หมอหมู เผยอันตรายจากพิษ เมทานอล ภัยใกล้ตัวนักดื่ม

View icon 129
วันที่ 27 ส.ค. 2567 | 16.33 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - "หมอหมู" อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เผยภาวะพิษจากเมทานอล เป็นภัยใกล้ตัวนักดื่ม จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มพวกยาดอง หรือ เหล้าเถื่อน เพราะมักปนเปื้อนสารอันตราย

หมอหมู เผยอันตรายจากพิษ เมทานอล
รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี หรือ หมอหมู อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ข้อมูลถึงความอันตรายจากภาวะพิษจากสารเมทานอลว่า ส่วนใหญ่มักจะพบในสุราปลอม เหล้าเถื่อนที่ต้มกลั่นเอง หรืออาจจะเกิดจากความเข้าใจผิดคิดว่า เมทานอล เป็น เอทานอล (ethanol) โดยทั่วไปใช้เป็นตัวทำละลาย ซึ่งเป็นส่วนประกอบของของใช้ต่าง ๆ

โดยขนาดที่เริ่มเป็นพิษประมาณ 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ขนาดที่เป็นพิษรุนแรงจนผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตมักมากกว่า 60 มิลลิลิตร ของ 40% เมทานอล โดยสามารถดูดซึมอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 95 จะถูกกำจัดที่ตับ ซึ่งโดยทั่วไปร่างกายสามารถกำจัด เอทานอล ได้ดีกว่า เมทานอล 10 เท่า แต่หากรับประทานเข้าไปแล้วการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ ห้ามให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ และอย่าทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เพราะจะเป็นการเพิ่มการกระจายของพิษ

ย้อนคดีเหล้ายาดองมรณะที่ชลบุรี
สำหรับกรณี "ยาดองมรณะ" ก็เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2562 ครั้งนั้นเกิดในพื้นที่ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี โดยชาวบ้านได้ซื้อยาดองผสมสมุนไพรรากสามสิบ ผสมคางคก และเหล้าขาว มาบริโภค เป็นเหตุให้เสียชีวิตจำนวน 3 ราย ซึ่งครั้งนั้นกรมสรรพสามิตได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ในสถานที่ทำเหล้ายาดองดังกล่าว พบทั้งถังแกลลอนเปล่าชนิดเมทิลแอลกอฮอล์ และชนิดเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งจากสถิติจำนวนของกลางของกรมสรรพสามิต พบว่า ในปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพสามิต ยึดเหล้ายาดองเป็นของกลางจำนวน 13,000 ลิตร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.005 ของปริมาณสุราที่เสียภาษีทั้งหมด แม้เหล้ายาดองจะเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับปริมาณสุราที่เสียภาษีและได้รับการตรวจสอบคุณภาพอย่างถูกต้อง ก็ยังพบว่า ยังคงมีผู้ต้องการผลิตและบริโภคเหล้ายาดองอยู่

กฎหมาย ยาดอง
ส่วนกรณีผู้ที่ลักลอบผลิตและขายเหล้ายาดองที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 สามารถแบ่งลักษณะความผิดได้ 2 กรณี

กรณีที่ 1 : การขายเหล้ายาดองที่ทำจากสุราที่เสียภาษีแล้ว จะผิดกฎหมายของ กรมสรรพสามิต ตามมาตรา 155 (ไม่มีใบอนุญาตขาย) มาตรา 157(เปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุรา) และมาตรา 158 (เปลี่ยนแปลงสุรา) ซึ่งมีโทษสูงสุด ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

กรณีที่ 2 : การขายเหล้ายาดองที่ทำจากสุราที่ไม่ได้เสียภาษี จะผิดกฎหมายกรมสรรพสามิต ตามมาตรา 191 (ขายสุราที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต) และมาตรา 192 (ซื้อหรือครอบครองสุราที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต) ซึ่งมีโทษสูงสุด ปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง