เด็กไทยน่าห่วง 6 ขวบเริ่มเล่นพนัน บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มกว่า 5 เท่า

เด็กไทยน่าห่วง 6 ขวบเริ่มเล่นพนัน บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มกว่า 5 เท่า

View icon 130
วันที่ 28 ส.ค. 2567 | 14.36 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เปิดตัวเลขสำนักงานสถิติฯ เด็กไทยน่าห่วง 6 ขวบเริ่มเล่นพนัน 75% มีแนวโน้มไม่หยุดเล่น สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด กว่า 5 เท่า เยาวชนอายุ 15-24 ปี เกือบ 2 ล้านคน ดื่มสุรา สสส. จับมือเครือข่ายหนุนวิชาชนะมาร

วันนี้ (28 ส.ค.67) น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยง เหล้า-บุหรี่-พนัน มีความสุ่มเสี่ยงต่อเด็กเยาวชนมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และผลการวิจัยโดยเครือข่ายสุขภาพ ระหว่างปี 2565-2566 พบว่า ในปี 2565 เด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 5.3 เท่า มีการโฆษณาและส่งเสริมการขายในออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 48% จากเดิมในปี 2558 พบเพียง 27% สาเหตุสำคัญคือ บุหรี่ไฟฟ้ามีรสชาติ รูปลักษณ์ที่ดึงดูดให้อยากลองสูบ หากมีเพื่อนสูบ หรือเคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน จะเสี่ยงติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 4 เท่า และหากมีพ่อแม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ลูกจะเสี่ยงติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่า

สถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่า เด็กเยาวชน อายุ 15-24 ปี ดื่มมากถึง 20.9% หรือราว 1.9 ล้านคน โดยเพศชายมีอัตราการดื่มที่ลดลง แต่เพศหญิงดื่มเพิ่มมากขึ้น ที่น่ากังวลคือพบการดื่มแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิต 25.09%

สถานการณ์พนัน โดยเฉพาะพนันออนไลน์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบเด็กเล่นพนันครั้งแรกอายุยิ่งน้อยลง ล่าสุด พบเด็ก 6 ขวบเริ่มเล่นพนัน โดย 54% เริ่มเล่นพนันตั้งแต่อายุก่อน 20 ปี และ 75% มีแนวโน้มที่จะไม่หยุดเล่นพนัน

น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า สสส. ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน จึงได้ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เครือข่ายละครเพื่อการเรียนรู้ 5 ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มเรียนรู้บางเพลย์ จ.ชลบุรี กลุ่มไม้ขีดไฟ จ.นครราชสีมา สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ จ. อุตรดิตถ์ ทีมเฉพาะกิจเธียเตอร์ กรุงเทพมหานครกลุ่มละครสองเล และโรงเรียนใต้ร่มไม้ จ.สงขลา พัฒนาโครงการพัฒนาการเรียนรู้ “วิชาชนะมาร” (เหล้า/บุหรี่/พนัน) ให้กับเด็กประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น ผ่านกระบวนการละครเพื่อการเรียนรู้ และกระบวนการพัฒนาทักษะสมองกับองค์ความรู้รูปแบบของการจดจำ-นำไปใช้ หรือ Executive Function (EF) ครอบคลุมโรงเรียน 200 แห่ง พร้อมสร้างเครือข่ายครูนำไปใช้เสริมการเรียนการสอนในชั้นเรียน สร้างความตระหนักรู้และเท่าทันปัจจัยเสี่ยง โดยบูรณาการกับนโยบายและจุดเน้นของแผนยุทธศาสตร์การศึกษาขององค์กรต้นสังกัด โดยใช้แนวคิด ชี้เป้าให้ชัด ขยายเครือข่าย สร้างตัวคูณดูแลปกป้องเด็กเยาวชนจากปัญหายาและสารเสพติด

นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การบูรณาการกับกระบวนการเรียนรู้วิชาชนะมาร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนควรมีการเชื่อมประสานกับศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย และสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ที่ดูแลเรื่องของปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพนันอยู่แล้ว เพื่อต่อยอดกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา “กลุ่มที่ 5 ความปลอดภัย” ที่เน้นเรื่องการเสริมสร้างสุขภาพ สร้างทักษะชีวิตในการป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ การใช้ยา สารเสพติด และความรุนแรง  โดย สพฐ. มียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะทางสมอง Executive Function (EF) ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันปัญหายาเสพติด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง