บอร์ด สปสช. เห็นชอบบริการตรวจ NIPT ในระบบบัตรทอง

บอร์ด สปสช. เห็นชอบบริการตรวจ NIPT ในระบบบัตรทอง

View icon 89
วันที่ 2 ก.ย. 2567 | 15.59 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
บอร์ด สปสช. เห็นชอบบริการตรวจ NIPT ในระบบบัตรทอง ตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์  เลขาธิการ สปสช.  เดินหน้าต่อรองราคา จัดทำหลักเกณฑ์รองรับ

วันนี้ (2 ก.ย.67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอ “การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ด้วยวิธี non-invasive prenatal test :NIPT และให้ความเห็นชอบกำหนดเป็นประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาทเพิ่มเติม มอบให้ สปสช. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องจากนี้ เช่น การจัดทำระบบเพื่อรองรับการดำเนินการ หรือการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าบริการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ ด้วยวิธี NIPT ให้มีผลดำเนินการบริการเมื่อมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดย สปสช. จะแจ้งให้หน่วยบริการในระบบและประชาชนรับทราบต่อไป

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาได้มีการจัดชุดสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและสมบูรณ์ โดยได้ทำการพัฒนาสิทธิประโยชน์บริการมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบริการตรวจความเสี่ยงของทารกในครรภ์ด้วยวิธี Quadruple test ที่เป็นการตรวจภาวะโคโมโซมที่ผิดปกติ หรือดาวน์ซินโดรม ที่เป็นมาตรฐานบริการทางการแพทย์ให้กับผู้หญิงไทยตั้งครรภ์ทุกคน ภายใต้สิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาด้วยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในการเพิ่มเติมบริการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ด้วยวิธี NIPT ซึ่งทางคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข และคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารกองทุน ได้พิจารณาและนำเสนอต่อบอร์ด สปสช. ในวันนี้ ด้วยเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย  ทั้งให้ผลการตรวจแม่นยำเมื่อเปรียบเทียบการตรวจด้วยวิธี Quadruple test จากร้อยละ 7 เหลือเพียงร้อยละ 0.15 ทำให้ลดจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องเข้ารับการเจาะตรวจน้ำคร่ำและลดความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ยังลดงบประมาณค่าใช้จ่ายบริการเจาะตรวจน้ำคร่ำได้อีกด้วย  

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. จะเดินหน้าต่อในขั้นตอนการต่อรองราคาบริการ เนื่องด้วยการตรวจด้วยวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าวิธี Quadruple test ซึ่ง สปสช. ต้องดำเนินการจัดบริการให้สมดุลกับงบประมาณที่มีอยู่ในระบบ พร้อมจัดทำระบบตลอดจนประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายต่างๆ เพื่อรองรับการให้บริการ ทั้งนี้การดำเนินการต่างๆ หากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทาง สปสช. จะแจ้งหน่วยบริการในระบบและประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง