สปสช. เปิด 10 อันดับโรค ใช้สิทธิบัตรทองมากที่สุด

สปสช. เปิด 10 อันดับโรค ใช้สิทธิบัตรทองมากที่สุด

View icon 3.8K
วันที่ 3 พ.ย. 2567 | 11.53 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เปิด 10 อันดับโรค คนไทยใช้สิทธิบัตรทองรักษามากที่สุด ความดันสูง ครองแชมป์อันดับ 1 ตามมาด้วยเบาหวาน ส่วนผู้ป่วยใน นอน รพ. สูงสุด มาด้วยโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบติดเชื้อ 2.44 แสนครั้ง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดรายงาน “กองทุนบัตรทอง ปี 2566”  โรคที่คนไทยใช้สิทธิบัตรทองรักษามากที่สุด 10 อันดับแรก จากรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 มีจำนวนการรับบริการผู้ป่วยนอก โดยใช้สิทธิบัตรทอง  ทิ้งสิ้น 170.39 ล้านครั้ง หรือคิดเป็นอัตราการรับบริการเฉลี่ย 3.63 ครั้งต่อคนต่อปี ส่วนการรับบริการผู้ป่วยใน มีจำนวนการรับบริการทั้งสิ้น 6.09 ล้านครั้ง หรือคิดเป็นอัตราการรับบริการเฉลี่ย 0.13 ครั้งต่อคนต่อปี รวมจำนวนวันนอนของผู้ป่วยในทั้งสิ้น 25,617,886 วัน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกจำนวน 170.39 ล้านครั้งนี้ ข้อมูล 10 อันดับแรก  เป็นการเข้ารับบริการด้วยโรคความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุ สูงเป็นอันดับ 1 หรือที่จำนวน 19,898,178 ครั้ง รองลงมา เป็นภาวะเบาหวาน ไม่พึ่งอินซูลิน จำนวน 11,309,503 ครั้ง ความผิดปกติของเมตบอลิซึมของไลโปโปรตีนและภาวะไขมันในเลือดอื่น จำนวน 9,811,445 ครั้ง ไข้หวัด จำนวน 6,944,943 ครั้ง ไตวายเรื้อรัง จำนวน 5,114,833 ครั้ง ความผิดปกติแบบอื่นของเนื้อเยื่ออ่อน จำนวน 3,303,586 ครั้ง ฟันผุ จำนวน 3,170,446 ครั้ง อาหารไม่ย่อย จำนวน 2,728,596 ครั้ง ความผิดปกติอื่นของกล้ามเนื้อ จำนวน 2,700,975 ครั้ง และเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ จำนวน 2,093,009 ครั้ง (ตามลำดับ)

เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มโรคที่รับบริการ ปี 2562 -2566 พบว่า 3 อันดับแรกไม่มีความเปลี่ยนแปลง คือ โรคความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุ โรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน และความผิดปกติของเมตะบอลิซึมของไลโปโปรตีนและภาวะไขมันในเลือดอื่น

ส่วนการเข้ารับบริการผู้ป่วยในนั้น นพ.จเด็จ กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 6.09 ล้านครั้ง จากข้อมูล 10 อันดับแรก พบว่าโรคกระเพาะอาหารกับลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ มีจำนวนการเข้ารับบริการมากเป็นอับดับแรก จำนวน 244,030 ครั้ง รองลงมาโรคปอดบวม ไม่ระบุเชื้อต้นเหตุ จำนวน 198,616 ครั้ง ต้อกระจกในวัยชรา จำนวน 178,319 ครั้ง ไตวายเรื้อรัง จำนวน 125,689 ครั้ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบอื่น จำนวน 125,322 ครั้ง หัวใจล้มเหลว จำนวน 121,584 ครั้ง ธาลัสซีเมีย จำนวน 116,719 ครั้ง เนื้อสมองตายเพราะขาดเลือด จำนวน 115,038 ครั้ง เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน 112,472 ครั้ง และความผิดปกติของระบบปัสสาวะ จำนวน 99,650 ครั้ง (ตามลำดับ)

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2566 สปสช. ได้จัดสรรงบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว เพื่อดูแลประชากรไทยผู้มีสิทธิจำนวน 47.727  ล้านคน วงเงิน 99,760.58 ล้านบาท (ไม่รวมเงินเดือนผู้ให้บริการ) หรือคิดเป็นอัตรา 3,385.98 บาทต่อประชากร ในจำนวนนี้เป็นงบบริการผู้ป่วยนอกที่อัตรา 1,344.40 บาทต่อประชากร และงบผู้ป่วยในที่อัตรา 1,477.01 บาทต่อประชากร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง