ดร.อานนท์-หมอนิติเวช รพ.ภูมิพล ให้ความเห็น อเมริกันบุลลี ควรเลี้ยงหรือไม่ แม้พัฒนาพันธุ์ให้ดุน้อยลง ยังมีความก้าวร้าวตามสัญชาตญาณเดิมของ พิตบุล สายพันธุ์พื้นฐาน ปัญหายิ่งซับซ้อน ผู้เพาะพันธุ์จำนวนมากขาดความรับผิดชอบรุนแรง อเมริกันบุลลี 95% ไม่ใช่พันธุ์แท้
อเมริกันบลุลี ควรเลี้ยงหรือไม่ วันนี้ (3 ก.ย.67) เฟซบุ๊กของดร.อานนท์ ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ นต. นพ.อรรถสิทธิ์ ดุลอำนวย แผนกนิติเวชศาสตร์ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช ให้ความเห็นว่า เรื่องสุนัขอเมริกันบุลลี 3 ตัว รุมกัดชายหนุ่มอายุ 18 ปี เสียชีวิตในบ้าน เป็นข่าวอันน่าสลดเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนทั้ง 2 คน เป็นคนรักสุนัขและเลี้ยงสุนัขทั้งคู่ หมออรรถสิทธิ์ เป็นแพทย์นิติเวชทำหน้าที่ผ่าชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตและเคยได้ผ่าชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากการถูกสุนัขกัดมาแล้วเช่นกัน
โบราณนั้นว่าสัตว์มีเขี้ยวเล็บงาอย่าไว้วางใจ แต่มีผู้คนทักมามากมายถึงลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของสุนัขพันธุ์อเมริกันบุลลี บอกว่าสายพันธุ์นี้ไม่ดุร้าย เป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักของครอบครัวจากประสบการณ์ตรงของผู้เลี้ยงจำนวนมาก ไม่ได้เป็นเหมือนในข่าวเหตุการณ์ที่มีชายหนุ่มเสียชีวิตจากอเมริกันบูลลี 3 ตัว รุมกัดเลย คนไทยจำนวนมาก (โดยเฉพาะคนที่รักและเลี้ยงสุนัข) แสดงความคิดเห็นว่าสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ดุ ไม่มีอันตราย และน่าจะเกิดจากผู้เสียชีวิตนั้นไม่ได้ดูแลน้อง 3ตัว อย่างถูกต้องเหมาะสม หรืออาจจะไม่เข้าใจธรรมชาติในการดูแลสุนัข ว่าต้องวางตัวเป็นจ่าฝูงที่จะควบคุมสุนัขให้อยู่ในระเบียบให้ได้ จึงเป็นเหตุอันน่าเศร้าสลดในวันนี้
ก่อนอื่นต้องขอทบทวนความรู้ก่อนว่าอเมริกันบุลลี เป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาต่อมาจากพิตบุล อันเป็นคำเรียกรวมของสายพันธุ์ 4 สายพันธุ์คือ American Pit Bull Terrier, American Staffordshire Terrier, American Bulldog, และ Staffordshire Bull Terrier. ว่ากันว่าสายพันธุ์เหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นขึ้นมาเพื่อเป็นสุนัขสำหรับการล่าสัตว์และการกีฬาที่ให้สุนัขกัดกัน
ความหลากหลายของสายพันธุ์ที่ยังไม่นิ่งของพิตบุลเอง ทำให้หลายสมาคมของการพัฒนาพันธุ์สุนัขไม่รับรองสายพันธุ์ เช่น the American Kennel Club ก็ไม่รับรองสายพันธุ์ จนในภายหลัง American Dog Breeders Association (ADBA) เริ่มรับรองสายพันธุ์ American Pit Bull Terrier
พิตบุลเป็นสุนัขพันธุ์ที่ถูกเพาะพันธุ์มาให้แสดงความก้าวร้าวกับสุนัขด้วยกัน แต่ผู้เพาะพันธุ์สุนัขจำนวนมากที่ขาดความรับผิดชอบก็ยังเพาะพันธุ์สายพันธุ์ของพิตบุลที่มีพื้นฐานอารมณ์ลักษณะนิสัย (Temperament) ที่เกรี้ยวกราด มีข่าวปรากฏเสมอว่าพิตบุลทำร้ายมนุษย์ แม้กระทั่งผู้เลี้ยงให้ข้าวให้น้ำ หรือครูฝึกสุนัขเองจนบาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่เสมอ ทำให้หลายประเทศออกกฎหมายห้ามเลี้ยงหรือจำกัดการเพาะพันธุ์ เนื่องจากเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และบางประเทศแนะนำให้การุณยฆาต พิตบุลที่ก่อเหตุร้ายแรง และไม่แนะนำให้นำไปเลี้ยงหรือรับไปเลี้ยงต่อ ในประเทศไทยก็มีเหตุการณ์ที่พิตบุลกัดทำร้ายเจ้าของหรือคนเลี้ยงจนเสียชีวิตมาแล้วมามากมาย ดังปรากฏข่าวอยู่เสมอ
ดร.อานนท์ ระบุว่า ไม่เคยเลี้ยงพิตบุล แต่เคยกอดและเคยเล่นกับพิตบุลมาแล้วนับสิบตัว พิตบุลนั้นหากอารมณ์ดีเป็นสุนัขที่ฉลาด แสนรู้ อ่อนโยน และขี้อ้อนมาก แต่ไม่ใช่ว่าในทุกเวลาและทุกสถานที่ ที่พิตบุลจะเอามากอดเล่นได้ เข้าไปกอดพิตบุลไม่รู้จังหวะและไม่สร้างความไว้วางใจก่อน จะเละเอาได้ง่ายมาก
แต่ด้วยร่างกายอันกำยำแข็งแรงของพิตบุล โดยเฉพาะกรามที่ใหญ่มาก ตลอดจนแรงกัดที่สูงมาก และมีการล็อกของขากรรไกร (Jaw-locked) เวลากัดและกระชากเวลากัด เพราะถูกเพาะพันธุ์มาเพื่อเป็นสุนัขไว้กัดกันเพื่อการกีฬา ทำให้พิตบุลเป็นสุนัขที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างยิ่ง
ในทัศนะของ ดร.อานนท์และหมออรรถสิทธิ์ เห็นว่ามีสุนัขสายพันธุ์อื่นมากมายที่มีลักษณะเด่นและควรเลี้ยง แม้กระทั่งสุนัขพันทางหรือสุนัขพันธุ์เทศบาล ก็สวยงามและฉลาด หากเลี้ยงดูอย่างดีและสอนให้ถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่สมควรและไม่แนะนำให้เลี้ยงพิตบุล ที่อาจจะก่ออันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และมีข่าวปรากฎมากมายอยู่แล้ว
จริง ๆ สุนัขพันธุ์บางแก้วของไทยจากจังหวัดพิษณุโลกนั้น ดุกว่าสุนัขพันธุ์พิตบุลเสียด้วยซ้ำ เพราะบางแก้วมาจาก breed ของสุนัขป่ามีสัญชาตญาณของการรวมฝูงและการล่าสูงมาก มีการประกาศอาณาเขตและหวงสถานที่ แต่แม้บางแก้วจะดุมากโดยนิสัย แต่อันตรายนั้นมีน้อยกว่าพิตบุล เพราะบางแก้วกรามไม่ใหญ่และแรงขบของฟันนั้นไม่มากเท่าพิตบุล
ข้อความตอนหนึ่ง ดร.อานนท์และหมออรรถสิทธิ์ ระบุว่า จากการสอบถามสัตวแพทย์หลายคน ลงความเห็นตรงกันว่ากลัว “บางแก้ว” มากกว่า เพราะบางแก้วนั้นดุกว่ามาก มีพื้นฐานอารมณ์ที่ดุกว่าพิตบุลมาก แต่อันตรายถึงบาดเจ็บหนักหรือเสียชีวิตจากการกัดของบางแก้วเป็นไปได้ยากไม่เหมือนกับพิตบุล
สำหรับ American Bully นั้นเป็นพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาจาก Pitbull แต่พยายามพัฒนาให้ดุน้อยลง แต่ยังคงชอบลักษณะทางกาย (Phenotype) ที่กำยำล่ำสัน เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ กะโหลกใหญ่ กรามกว้างของพิทบูลอยู่ เพื่อให้เลี้ยงได้ง่ายขึ้น โดยมีการพัฒนาสายพันธุ์ในสหรัฐอเมริกาในช่วง 1980-1990
สายพันธุ์พื้นฐานในการเพาะพันธุ์ American Bully นั้นคือ American Pit Bull Terrier แต่นำไปผสมข้ามพันธุ์กับ bulldog อื่นๆ เช่น the English Bulldog และ the American Bulldog โดยหวังว่าจะให้เป็นมิตรมากขึ้น มีพื้นฐานอารมณ์สงบนิ่งมากขึ้น ไม่ก้าวร้าวจนเกินไป แต่ยังคงบึกบึน กำยำ แข็งแรง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ อกกว้าง กรามใหญ่ มีแรงกัดมหาศาลเช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม American Bully ก็ยังคงมีระดับของความก้าวร้าวตามสัญชาตญาณเดิมของสายพันธุ์พื้นฐานคือ American Pit Bull Terrier
ปัญหานี้ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปมากกว่าเดิม เพราะผู้เพาะพันธุ์ American bully จำนวนมากขาดความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างรุนแรง ดังเช่นกรณีในประเทศไทยนี้ ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านสายพันธุ์สุนัขและกรรมการตัดสินสุนัขระดับโลกได้ให้ความเห็นมาแล้วว่าสุนัขในข่าวที่ก่อเหตุ รวมถึงสุนัขในไทย ที่เราเรียกว่าอเมริกันบุลลีที่แท้จริงราว 95% แล้วเป็นสุนัขพันธุ์ทางหรือพันธุ์ผสม (Cross breed) ไม่ใช่พันธุ์แท้ (Pure Breed)