ข่าวดี บอร์ด สปสช. ไฟเขียวท้องถิ่นใช้งบ กปท. จัดรถรับส่งผู้ทุพพลภาพไป รพ.

ข่าวดี บอร์ด สปสช. ไฟเขียวท้องถิ่นใช้งบ กปท. จัดรถรับส่งผู้ทุพพลภาพไป รพ.

View icon 124
วันที่ 8 ก.ย. 2567 | 13.49 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สมศักดิ์ เผย บอร์ด สปสช. ไฟเขียวท้องถิ่นใช้งบ กปท. จัดรถรับส่งผู้ทุพพลภาพสิทธิบัตรทอง 3 กลุ่มไป รพ. ชี้ ลดค่าใช้จ่าย หลังพบเดินทางลำบาก-ขอรับบริการรถฉุกเฉิน 1669 ไม่ได้

วันนี้ (8 ก.ย.67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยยกระดับบริการสาธารณสุขให้กับประชาชน คือ เห็นชอบการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ เพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยผู้ทุพพลภาพ คือ ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 3 กลุ่ม 1.คนพิการที่ได้ขึ้นทะเบียนคนพิการแล้ว 2.ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ และ 3.ผู้ป่วยที่มีความยากลําบากในการไปรับบริการสาธารณสุขด้วยตนเอง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น ค่าเดินทาง ค่าเสียโอกาสของญาติ

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันผู้ทุพพลภาพ ยังมีข้อจํากัดในการเดินทางไปโรงพยาบาล และไม่สามารถขอรับบริการรถฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ได้ เนื่องจากไม่เข้าข่ายการเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่จากการรับฟังความคิดเห็นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็มีข้อเสนอจากภาคประชาชน ที่ขอให้ สปสช. เพิ่มบริการพาหนะรับส่งผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ทุพพลภาพเข้าถึงบริการได้โดยสะดวก ดังนั้น บอร์ด สปสช. จึงมีการเห็นชอบการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพฯ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจนให้กับ อปท.ในการจัดทำโครงการบริการรับส่งผู้ทุพพลภาพ จากบ้านไปกลับโรงพยาบาล โดยใช้งบ กปท. ซึ่งผู้ให้บริการรถรับส่ง คือ รถพยาบาลของหน่วยบริการ รถหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน และรถรับส่งผู้ป่วยโดยภาคเอกชน รวมถึงรถโดยสารสาธารณะสำหรับผู้โดยสารคนเดียว หรือ กลุ่มเล็ก เช่น รถแท็กซี่

“ส่วนอัตราการจ่ายค่าบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ มีทางเลือกการจ่าย 4 แนวทาง เพื่อให้ อปท. พิจารณาได้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ คือ 1.จ่ายตามที่ประกาศ สปสช. คือ จ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท สำหรับระยะทางน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 กม. และหากระยะทางมากกว่า 50 กม. จ่ายเริ่มต้น 500 บาท และเพิ่มขึ้น กม.ละ 4 บาท 2.จ่ายตามอัตราการอุดหนุน หรือ ชดเชย ตามระเบียบของ สพฉ. เช่น ระยะทางไม่เกิน 10 กม. จ่ายประมาณ 100-350 บาท/ครั้ง 3. จ่ายรายครั้งบริการไปกลับตามอัตราที่ประกาศกำหนด และ 4.จ่ายเหมาบริการรายวัน ตามอัตราที่ประกาศกำหนด โดยการเพิ่มบริการรถรับส่ง ตามที่ภาคประชาชนเรียกร้อง จะเห็นได้ว่าเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วย รวมถึงช่วยลดภาระให้กับครอบครัวผู้ป่วยด้วย” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง