ห้องข่าวภาคเที่ยง - นึกว่ามีแต่ในละคร จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์เล่าเหตุการณ์ เด็กแรกเกิดถูกสลับตัวกัน จนต้องมีการตรวจดีเอ็นเอ และพบว่าไม่ใช่ลูกตัวเอง สุดท้ายทางโรงพยาบาลยอมรับ และรับผิดชอบ
เรื่องนี้พ่อเด็กเป็นคน โพสต์เล่าเหตุการณ์ ถึงความสะเพร่า ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาครว่า ลูกสาวเกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม แต่น้องมีอาการหายใจเร็ว จึงต้องแยกกับแม่ไปอยู่ห้องอภิบาล เพื่อให้ยาฆ่าเชื้อเป็นเวลา 7 วัน วันต่อมาตนและภรรยาไปเยี่ยมลูก และแอบถ่ายรูปลูกเก็บไว้
จนกระทั่งวันที่ 17 สิงหาคม เริ่มพบความผิดปกติว่าลูกมีลักษณะหน้าตาเปลี่ยนไป คือ ผมสั้นลง คิ้วหาย ป้ายชื่อที่ข้อมือก็หาย เสื้อผ้า ผ้าขนหนูไม่ใช่ของน้อง จึงสอบถามพยาบาล บอกว่าป้ายชื่อที่ข้อมืออาจจะหายไปตอนอาบน้ำ ส่วนเสื้อผ้าอาจมีการสลับกันได้
จนถึงวันครบกำหนดให้ยาฆ่าเชื้อ หมอให้กลับบ้านได้ พอกลับมาถึงบ้านก็ยังรู้สึกว่า เด็กที่พากลับมาไม่ใช่ลูกของตน ยิ่งพอไปเทียบกับรูปที่ถ่ายไว้ ยิ่งเห็นชัดว่าเป็นเด็กเป็นคนละคน จึงตัดสินใจโทรไปหาโรงพยาบาล โรงพยาบาลบอกว่าเด็กทารกก็แบบนี้แหละ หน้าตาเปลี่ยนได้ทุกวันอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ไม่สบายใจจึงโพสต์ลงในกลุ่มเพื่อสอบถามความเห็น ส่วนใหญ่ก็บอกว่าคนละคน แนะนำให้ไปตรวจ DNA
ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม จึงพาลูกตรวจ DNA ความจริงปรากฏ เพราะเลือดเด็กเป็นกรุ๊ป B ทั้ง ๆ ที่ตนเลือดกรุ๊ป AB ส่วนภรรยาเลือดกรุ๊ป A จึงเข้าพูดคุยกับ รอง ผอ.โรงพยาบาล เพื่อตามหาลูกตัวจริง ก่อนจะพาไปพบกับครอบครัวชาวเมียนมา ที่ผลตรวจเลือดเด็กเลือดกรุ๊ป AB ส่วนพ่อแม่ชาวเมียนมา เลือดกรุ๊ป B ทั้งคู่
คาดว่าสลับตัวกันระหว่างให้ยาฆ่าเชื้อ ลูกสาวของตนถูกให้ยาฆ่าเชื้อเกิน ขณะที่อีกครอบครัวถูกให้ยาฆ่าเชื้อขาดกำหนด ไม่รู้เลยว่าจะมีผลอะไรตามมาหรือไม่ ล่าสุด ทางโรงพยาบาลได้มีการตรวจสอบแล้ว พบว่าเด็กสลับตัวกันจริง จึงให้สิทธิรักษาฟรีแบบพิเศษจนเด็กอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
เรื่องนี้ ผู้โพสต์บอกว่า ถ้าตนไม่มีหลักฐานเป็นรูปถ่าย ก็คงไม่รู้เลยว่าไปเอาลูกใครมาเลี้ยง จึงขอเงินเยียวยาจากโรงพยาบาลเป็นจำนวนเงิน 2 แสนบาท คือ ครอบครัวตน 1 แสน และครอบครัวเมียนมาอีก 1 แสน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาจากโรงพยาบาล อ้างว่าอาจจะต้องรอก่อน กำลังรวบรวม
ขณะที่เช้าวันนี้ (16 ก.ย.) โรงพยาบาลที่เกิดเรื่อง ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง พร้อมกำหนดแนวทางเยียวยาผู้เสียหายทั้ง 2 ครอบครัว และมาตรการในการดูแล รวมถึงการป้องกัน โดยเฉพาะป้ายชื่อที่ข้อมือเด็ก ภายหลังการทำหัตถการพยาบาลต้องผูกป้ายชื่อกลับคืนทันที และการติดตั้งกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นมาตรการที่โรงพยาบาลจะดำเนินการทันที เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ
ด้าน นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เรื่องนี้ตนเองได้รายงานให้กับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรับทราบแล้ว เบื้องต้นทราบว่าในวันวันเกิดเหตุที่มีการสลับเด็กมีพยาบาล 2 คนเข้าเวร โดย 1 ในนั้นเป็นผู้ถอดป้ายชื่อที่ข้อมือเด็กออก โดยให้เหตุผลว่าเพื่อสะดวกแก่การให้ยาฆ่าเชื้อ
ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อจิตใจคนเป็นพ่อและแม่ ซึ่งเหตุการณ์นี้จะต้องนำมาเป็นบทเรียนในการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก ส่วนเรื่องของการเยียวยา นอกจากเงิน 2 แสนบาทให้แล้ว เดี๋ยวจะหาทางช่วยเหลือเพิ่มเติม ด้วยการไปดูกฎระเบียบของกระทรวงฯ ว่าจะสามารถเยียวยาอย่างไรเพิ่มได้บ้าง