อสส. ติดตามเงิน 10.46 ล้าน คืนไทย คดี อดีตผู้ว่า ททท.-ลูกสาว รับสินบนเทศกาลหนังนานาชาติ

อสส. ติดตามเงิน 10.46 ล้าน คืนไทย คดี อดีตผู้ว่า ททท.-ลูกสาว รับสินบนเทศกาลหนังนานาชาติ

View icon 55
วันที่ 16 ก.ย. 2567 | 16.41 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
อสส. ประสานอัยการสูงสุดเกาะเจอร์ซี่ย์ ติดตามเงิน 10.46 ล้านบาท คดี อดีตผู้ว่า ททท.-ลูกสาว รับสินบนเทศกาลหนังนานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2545 - 2550 คืนประเทศไทย

วันนี้ (16 ก.ย.67) งานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการติดตามเงิน 10.46 ล้านบาทจากผู้กระทำผิดจากคดีรับสินบนจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ ระบุว่า คดีนี้ เมื่อปี 2565 สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับเรื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กรณีกล่าวหานางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ผู้ว่า ททท.) และบุตรสาว ซึ่งร่วมกันทุจริตโครงการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ในช่วงปี 2545 - 2550 ต่อมาอัยการสูงสุด ได้มอบหมายให้สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ประสานงานกับอัยการสหรัฐอเมริกา เพื่อดำเนินการติดตามทรัพย์สินที่ได้จากการทุจริตส่งคืนให้กับประเทศไทย

สำนักงานอัยการสูงสุดขอชี้แจงความเป็นมาเกี่ยวกับคดี ดังนี้

1. ทรัพย์สินที่จะต้องดำเนินการเจรจาให้ส่งคืนดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากการสืบสวนสอบสวนของอัยการสหรัฐอเมริกา เพื่อดำเนินคดีกับ Mr. Gerald Green (ขณะนี้เสียชีวิตแล้ว) และภรรยาคือ Ms. Patricia Martha Green รวมทั้งคนไทยสองคน คือ นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่า ททท. และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว ซึ่งได้ร่วมกันทุจริตรับสินบน จากการตรวจสอบ ทางการสหรัฐอเมริกาพบเส้นทางการเงินของสินบนส่วนหนึ่งจ่ายให้แก่นางจุฑามาศ โดยส่งไปยังเกาะเจอร์ซี่ย์ ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเอง ภายใต้อธิปไตยของสหราชอาณาจักร

2.ต่อมาวันที่ 16 มี.ค.65 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ทางการเกาะเจอร์ซี่ย์ ดำเนินการริบเงินสินบนของนางจุฑามาศ ดังกล่าวส่งคืนประเทศไทย หลังจากนั้นสำนักงานอัยการสูงสุดเกาะเจอร์ซี่ย์ได้ดำเนินการตามกระบวนการพิจารณาริบทรัพย์สินตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดประสานงาน จนกระบวนการพิจารณาของทางการเกาะเจอร์ซี่ย์มีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินดังกล่าวและคดีถึงที่สุด ทางสำนักงานอัยการสูงสุดเกาะเจอร์ซี่ย์ได้สอบถามมายังสำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุดว่า เงินดังกล่าวจะให้ส่งคืนให้ทางการสหรัฐอเมริกาหรือประเทศไทย เนื่องจากมีการยื่นคำร้องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเกาะเจอร์ซี่ย์ทั้งสองประเทศ

3. สำนักงานอัยการสูงสุดจึงได้หารือประเด็นดังกล่าวกับพนักงานอัยการสหรัฐอเมริกา และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา จนได้ข้อยุติว่า ทางสำนักงานอัยการสูงสุดเกาะเจอร์ซี่ย์จะส่งทรัพย์สินให้ทางสหรัฐอเมริกาก่อน เพราะเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ยึดก่อน รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ในหลายประเทศ เมื่อทางการสหรัฐอเมริกาได้รับทรัพย์สินจากทางการเกาะเจอร์ซี่ย์แล้ว ก็จะรวบรวมส่งเงินคืนให้กับประเทศไทยเอง ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อตกลงภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาระหว่างไทย -สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1986

4.ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุด จึงแจ้งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดเกาะเจอร์ซี่ย์ รวมถึงการประสานกับพนักงานอัยการสหรัฐอเมริกาและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา เพื่อขอให้สหรัฐอเมริกาได้ส่งเงินจำนวน 10.46 ล้านบาท คืนให้กับประเทศไทยเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

นอกจากนี้ เงินสินบนจากคดีนี้ได้มีการโอนผ่องถ่ายไปยังหลายประเทศ รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งริบและส่งคืนทรัพย์สินมายังประเทศไทยในทุกประเทศ ขณะนี้ทุกเรื่องอยู่ในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาในประเทศนั้น ๆ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับพนักงานอัยการในแต่ละประเทศ และจะรายงานผลความคืบหน้าต่อไป

ในเรื่องดังกล่าว นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ได้มอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการ ซึ่งความสำเร็จในเรื่องนี้เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการประสานงานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดของประเทศไทย สำนักงานอัยการสูงสุดสหรัฐอเมริกา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา และสำนักงานอัยการสูงสุดเกาะเจอร์ซี่ย์ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นภารกิจโดยตรงของสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางตามกฎหมายของประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุกนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 77 ปี อดีตผู้ว่าการ ททท. และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว อายุ 50 ปี เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 จากกรณีรับเงินตอบแทน สามี-ภรรยาชาวสหรัฐอเมริกา นักธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ พ.ศ. 2545-2550 มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท โดยให้จำคุกนางจุฑามาศ 66 ปี แต่ตามกฎหมายจำคุกสูงสุดไว้ 50 ปี ส่วน น.ส.จิตติโสภาจำคุก40 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คงจำคุกสูงสุดนางจุฑามาศ 50 ปี และจำคุก น.ส.จิตติโสภา รวม 40 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง