เลื่อนประกาศผลลงทะเบียนดิจิทัล ไม่มีกำหนด

วันที่ 16 ก.ย. 2567 | 16.44 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ความคืบหน้าเงินดิจิทัลวอลเล็ต กลุ่มเปราะบางได้แน่นอนแล้ววันที่ 25-30 กันยายนนี้ แต่กลุ่มที่ลงทะเบียนผ่านแอปฯ ทางรัฐ ยังต้องรอต่อไป นอกจากจะเลื่อนลงทะเบียนกลุ่มไม่มีสมาร์ตโฟนแล้ว ตอนนี้ยังเลื่อนการประกาศผลการลงทะเบียนออกไปอีก

ความจริงถ้าเป็นไปตามไทม์ไลน์เดิม ที่กระทรวงการคลังเคยแถลงไว้ วันนี้ (16 ก.ย.) จะเป็นวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนของกลุ่มคนไม่มีสมาร์ตโฟน แต่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า ต้องเลื่อนออกไปก่อน เพราะต้องรอให้กระบวนการจ่ายเงินในเฟสแรกเรียบร้อยก่อน ส่วนกำหนดเดิมว่า วันที่ 22 กันยายนนี้ จะเป็นวันประกาศผลรายชื่อผู้ผ่านการลงทะเบียนได้รับสิทธินั้น เมื่อวาน นายจุลพันธ์ ก็ประกาศเลื่อนออกไปก่อน โดยไม่มีกำหนด

ส่วนเมื่อวานนี้ (15 ก.ย.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการลงทะเบียนนั้น มีผู้ลงทะเบียนแล้วประมาณ 33 ล้านราย ส่วนการจ่ายเงินในเฟสแรก กลุ่มเปราะบาง คือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้พิการ รวม 14.5 ล้านคน จะโอนเงินเข้าพร้อมเพย์ เริ่มวันที่ 25-30 กันยายนนี้

ส่วนกลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียน รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณปี 2568 ไว้แล้ว 1.8 แสนล้านบาท แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะจ่ายแบบใด หรือ อาจจะแบ่งจ่ายเงินสด และดิจิทัลครั้งละ 5,000 บาท แต่ยังไม่ได้ในสิ้นปีตามที่แถลงไว้ตอนแรก คาดว่าจะได้ในปีหน้า แต่ยังไม่ระบุวันเวลาที่แน่นอน

โดยวันนี้ (16 ก.ย.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมส่งรายชื่อกลุ่มเปราะบาง และผู้พิการ เพื่อเตรียมรับเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า กรมส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้เตรียมข้อมูลไว้เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากจะมีโอนค่าเบี้ยคนพิการ ดังนั้นบัตรของคนพิการจะมีข้อมูลอยู่แล้ว จึงจะส่งต่อข้อมูลให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงการคลัง ได้ตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 1 ล้านกว่าคน จากจำนวนผู้พิการที่มีประมาณ 2 ล้านคน

ส่วนคนที่รอลุ้นปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ 1 ตุลาคมนี้ ก็ยังต้องลุ้นกันต่อไป วันนี้ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 เป็นประธานการประชุมบอร์ดค่าจ้างที่กระทรวงแรงงาน เพื่อให้คณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน รวม 15 คน พิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในบางประเภทกิจการทั่วประเทศ ซึ่งจะให้มีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงเวลานัดหมายประชุม 13.30 น. เพียงกรรมการฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายลูกจ้างเท่านั้นที่เข้าร่วมประชุม ขณะที่กรรมการฝ่ายนายจ้าง รวม 5 คน ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลการประชุมคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา ที่ได้ประชุมพิจารณาตัวเลขการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งที่ 3 ของปี 2567 ซึ่งเป็นการพิจารณาจากตัวเลขที่ได้ให้แต่ละจังหวัดนำเสนอมาก่อนหน้านี้ ปรากฏว่า มีถึง 22 จังหวัด ที่ไม่เสนอตัวเลข หรือ ไม่ประสงค์ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คิดเป็นร้อยละ 28.57 ของจังหวัดทั้งหมด โดยจังหวัดที่มีมติเป็นเอกฉันท์ จำนวน 18 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่มติไม่เป็นเอกฉันท์ จำนวน 4 จังหวัด

สำหรับนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศภายในปีนี้ เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคเพื่อไทยในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 โดยตั้งเป้าไว้ว่าผู้ใช้แรงงานต้องมีค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ในปี 2570 และคนจบปริญญาตรี ต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570