เจาะประเด็นข่าว 7HD - เมื่อ 42 ปีที่ผ่านมา ตลาดนัดย้ายมาเปิดที่จตุจักรและมีพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งสมัยก่อนไม่ได้ใช้ชื่อนี้ด้วย ส่วนจะใช้ชื่อว่าอะไร และมีสินค้ามากมายขนาดไหน ย้อนกลับไปชมภาพวันวานในคอลัมน์ภาพเก่าเล่าเรื่อง
ความคึกคักของชาวไทยและฝรั่งมังค่าที่ต่างเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ในยามที่ตลาดนัดจตุจักรกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวครองใจชนทุกวัย
น้อยคนนักจะทราบว่า ที่นี่เริ่มต้นขึ้นในปีสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี 2 มกราคม 2525
ป้ายผ้าสีขาวผืนใหญ่ ประดับด้วยลูกโป่งสีธงชาติไทย ถูกปล่อยขึ้นท้องฟ้า ในเวลา 10.00 น. โดยมี "พลเรือเอก เทียม มกรานนท์" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ตัดริบบิ้น
นี่นับเป็นพิธีเปิดตลาดนัดกรุงเทพมหานครย่านพหลโยธินอย่างเป็นทางการ บนเนื้อที่ 78 ไร่ หลังย้ายมาจากตลาดนัดสนามหลวง
โดยครั้งแรกมีพ่อค้าแม่ค้าตั้งแผงค้ามากถึง 5,949 คน ขายสินค้าประเภทต่าง ๆ ทั้งต้นไม้ สัตว์ อาหาร ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ และเบ็ดเตล็ด
พื้นที่ก็แลดูสะอาดสะอ้านตา ไม่เหมือนครั้งอยู่สนามหลวง เรื่องเหม็นน้ำปลาร้า น้ำล้างหม้อไห หรือกองขยะ ไม่มีให้เห็นหรือได้กลิ่นกวนใจ
เพราะกรุงเทพมหานครเทคอนกรีต ป้องกันความชื้นแฉะ และสร้างระบบระบายน้ำที่เพียงพอ
ติดตั้งป้ายสัญลักษณ์บอกโซนสินค้าและจุดสำคัญต่าง ๆ
ที่สำคัญ แม่ค้าพ่อขายไม่ต้องทนร้อนจากแสงแดดเปรี้ยง เพราะเจ้าหน้าที่ติดตั้งเต็นท์และร่มหุบให้ทุกแผงค้า
10 ปีผ่านไป จากป้ายตลาดนัดกรุงเทพมหานครย่านพหลโยธิน ถูกเปลี่ยนเป็นชื่อ "ตลาดนัดจตุจักร" เพื่อให้สอดคล้องกับสวนสาธารณะจตุจักร
ขณะที่พื้นที่เคยโล่งแจ้ง กลายเป็นคับคั่ง ผู้คนหนาตา จากทางเดินที่เคยกว้างขวาง กลายเป็นคับแคบ แต่สร้างรอยยิ้มให้ทั้งคนขายและคนซื้อ เพราะยิ่งคับคั่งมากเท่าไหร่ นั่นหมายความว่าเงินสะพัดมากขึ้นเท่านั้น
ปัจจุบันตลาดนัดจตุจักรเจริญเติบโตขึ้นมาก มีพื้นที่ถึง 27 โครงการ มีสินค้าจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง กว่า 8,000 ร้านค้า และมีหอนาฬิกาเป็นจุดนัดพบสำคัญ
ถึงยามนี้ยากจะปฏิเสธได้ว่าที่นี่เป็นย่านสวรรค์ในการจับจ่าย ไม่ว่ากาลเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านนานเท่าไหร่ก็ตาม