ช้างป่าบุกพังกำแพงบ้าน คุณยายวัย 76 ปี จนท.ช่วยผลักดันสำเร็จ

ช้างป่าบุกพังกำแพงบ้าน คุณยายวัย 76 ปี จนท.ช่วยผลักดันสำเร็จ

View icon 63
วันที่ 10 ต.ค. 2567 | 09.22 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ช้างป่าบุกบ้านของยาย วัย 76 ปี ทำลายทรัพย์สินพังกำแพงบ้าน สุดท้ายเจ้าหน้าที่ผลักดันกลับเข้าป่าได้สำเร็จ ทางอุทยานแก่งชาติแก่งกระจานได้เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าตามนโยบายช่วยเหลือประชาชน

วันนี้ (10 ต.ค. 67) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า

ทางนายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำกำลังจากชุดเฉพาะกิจส่วนกลางเข้าสมทบกับเจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมอุปกรณ์เสริมประสิทธิภาพ ได้แก่ โดรนติดกล้องตรวจจับความร้อน 2 เครื่อง กระสุนพริกไทย และสเปรย์สกัดจากพริกจินดาสำหรับผลักดันช้างป่า

โดยคณะเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านของ นางสายทิพย์ อายุ 76 ปี ใน ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังได้รับแจ้งเหตุเมื่อช่วงเวลา 01.00 น. วานนี้ ช้างป่าไม่ทราบเพศ 1 ตัว บุกเข้าทำลายทรัพย์สิน และยังเข้ามาวนเวียนอยู่ในพื้นที่ถึงเวลา 03.00 น. โดยได้พังกำแพงปูนออกจากพื้นที่ไปทางด้านหลัง ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น พร้อมทั้งแนะนำให้ยื่นเรื่องขอค่าชดเชยความเสียหายต่อองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่

ทาง นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ทั้งหมด 38 นาย และมีเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ 10 เครือข่าย รวมสมาชิก 230 คน และมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (wcs) ประเทศไทย ในการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ (n-cap) 10 เครื่อง และรั้วสัญญาณเสียง 4 ชุด เพื่อเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ ผลการดำเนินการที่ผ่านมา สามารถป้องกัน บรรเทาความเสียหายจากช้างป่าได้ในระดับที่น่าพอใจ 

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติฯ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าอย่างจริงจัง การเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์เฝ้าระวังและการทำงานร่วมกับชุมชน จะช่วยลดผลกระทบจากช้างป่าและสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการดำรงชีวิตของประชาชน