โซเชียลแฉ ! หมอปลอมโผล่ธุรกิจยักษ์ใหญ่

View icon 606
วันที่ 10 ต.ค. 2567 | 11.24 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - ฉาวไม่พัก เพราะถูกแฉไม่เลิก ! ล่าสุด เพจฯ ดังออกมาแฉ ธุรกิจยักษ์ใหญ่อีกแล้ว บอกว่า บอสใหญ่ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้ สวมบทพิธีกร แท้จริงแล้วอาจจะเป็นหมอปลอม

โซเชียลแฉ ! หมอปลอมโผล่ธุรกิจยักษ์ใหญ่
โดยเพจฯ ดัง ออกมาแฉว่า หมอเอก ผู้บริหารธุรกิจยักษ์ใหญ่ เป็นหมอที่ไม่ได้จบหมอ แต่อ้างว่าตัวเองเป็นหมอ พอนำชื่อจริง นามสกุลไปค้นในระบบของแพทยสภา กลับไม่พบชื่อของหมอเอก (นพ.ฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ)

นั่นหมายความว่า หมอเอก ไม่ใช่หมอที่แพทยสภารับรอง แต่กลับสวมชุดหมอ และห้อย STETH ตรวจคนไข้ เป็นชุดออกงาน ขึ้นเวทีเป็นวิทยากร ในฐานะหมอผู้เชี่ยวชาญด้านความงามและสุขภาพ เป็นที่ปรึกษาให้กับคลินิก และโรงพยาบาลชั้นนำ การันตีรางวัลมากมาย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ หมอปลอม หรือ ไม่ปลอม ต้องรอทางเจ้าของธุรกิจออกมาชี้แจง

ผู้เสียหายธุรกิจใหญ่ แจ้งความถูกหลอกลวง
ด้านผู้เสียหายเริ่มแสดงตัวกันเรื่อย ๆ ทยอยเข้าแจ้งความ วันนี้ (10 ต.ค.) ผู้เสียหายกว่า 20 คน เดินมาพร้อมทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม รวมตัวกันมาที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. เพื่อร้องทุกข์ กรณีถูกหลอกให้เป็นผู้ร่วมลงทุน

เหยื่อเปิดใจว่า หลวมตัวเข้าร่วมการลงทุน เพราะเชื่อมั่นในตัวพรีเซนเตอร์ที่เป็นดาราแถวหน้าของเมืองไทย พูดจาโน้มน้าวชวนลงทุน ได้กำไรแน่นอน แต่เมื่อตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนเป็นลูกทีม ปรากฏว่าถูกพาเข้าไปเรียนคอร์สต่าง ๆ

โดยแต่ละคอร์สต้องเสียเงินค่าเข้าครั้งละประมาณ 2,500 บาท และทุกครั้งจะจบที่การโฆษณาดึงดูดใจ ในทำนองว่า ถ้าคุณไม่เข้าร่วม คุณจะพลาดเงินล้าน พอผู้เสียหายหลงเชื่อ อยากจะจับเงินล้าน ก็สมัครเรียน และต้องทำตามเป้าหมาย คือ หาเครือข่ายมาร่วมลงทุน โดยวิทยากรสอนสคริปต์ให้ด้วย พูดอย่างไรให้คนสนใจ เชิญชวนมาต่อยอดธุรกิจ แต่เงินทุนต่าง ๆ ให้ไปหาเอาเอง จนบางคนล้มไม่เป็นท่า

ทั้งนี้ ยังมีการหลอกล่อให้เป็นหุ้นส่วนบริษัทและเปิดสาขาย่อย อ้างว่าจะได้กำไรมากกว่าเป็นตัวแทนเครือข่าย ซึ่งที่ผ่านมาเหยื่อทุกคนไม่เคยมีใครได้กำไร ยิ่งทำยิ่งจน ส่วนคนที่รวยคือเจ้าของบริษัท

ทั้งนี้ ทางทนายจะยื่นเรื่องให้ ปคบ. พิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดข้อหาฉ้อโกงประชาชน, แชร์ลูกโซ่, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค, พ.ร.บ.ขายตรง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือไม่ ?

ผู้เสียหายอีกกลุ่มมาที่ บก.ปคบ. เช่นกัน พร้อมกับ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ โดย ทนายเดชา บอกว่า เก็บข้อมูลเรื่องนี้มาสักระยะแล้ว จนเริ่มมั่นใจว่าเป็นธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภค ต้องสงสัยว่าเป็นการกลายพันธุ์จากจดทะเบียนตลาดแบบตรง เป็นธุรกิจขายตรง หรือแชร์ลูกโซ่ 

โดยตนเองได้รับการประสานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้รวบรวมผู้เสียหายเข้าแจ้งความ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเริ่มต้นการสอบสวน

ส่วนความเคลื่อนไหวที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ทางศูนย์ประสานงานส่งเสริมเครือข่ายออนไลน์ และศูนย์ข่าวต้านโกง พาผู้เสียหายกว่า 10 คน จากธุรกิจดังกล่าว ยื่นเรื่องร้องเรียนหลังได้รับความเสียหายจากการร่วมลงทุน

โดย สคบ. เปิดเผยว่า เบื้องต้นธุรกิจนี้ ผิดแผนการขอใบอนุญาต เนื่องจากเป็นการขายสินค้าแบบตรงในรูปแบบออนไลน์ ไม่ใช่การขายตรง ซึ่งจากข้อมูลร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ มีผู้เสียหายแจ้งเรื่องมาเกือบ 100 คน โดยคนที่เสียหายที่ลงทุนไปมากที่สุดกับสินค้า สูญเงินไปถึง 5 ล้านบาท ขณะที่บางคนลงทุนไปกับค่าโฆษณา หวังเอาดีทางธุรกิจนี้ ยิงโฆษณาไปกว่า 8 ล้านบาท แต่ไม่ได้ผลตอบแทนเลย

ในส่วนของดารา อินฟลูเอนเซอร์ ก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ เพราะเป็นหนึ่งในผู้สร้างความเชื่อถือ และรับผลประโยชน์

เตรียมเรียก ดารา-อินฟลูเอนเซอร์ ให้ข้อมูล
สคบ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าธุรกิจนี้เข้าข่ายความผิดในฐานธุรกิจแบบขายตรงหรือไม่ ที่สำคัญต้องดูว่าเข้าข่ายการฉ้อโกงด้วยหรือเปล่า ?

เบื้องต้น สคบ. ได้พูดคุยกับ DSI ในเรื่องนี้ โดยในสัปดาห์นี้ ทาง สคบ. จะลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบยังบริษัทที่ตั้ง และสัปดาห์หน้าจะเรียกดารา-อินฟลูเอนเซอร์ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล

ซึ่งหากธุรกิจนี้มีความผิดจริง คนที่มีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการ จะถือว่ามีความผิดร่วมด้วย ส่วนบุคคลอื่น ๆ ที่มีการพูดเชิญชวน ต้องพิจารณาอีกทีว่าเข้าข่ายเจตนาชักชวนให้เชื่อหรือไม่

อีกประเด็นที่หลายคนสนใจ คือ ธุรกิจดังกล่าวได้รับรางวัลเป็นธุรกิจที่รับผิดชอบต่อผู้บริโภคเสมอมา และในฐานะองค์กร/หน่วยงาน ที่ทำคุณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย ปี 2565 จาก สคบ.

คำถามหลังจากนี้ คือ สคบ. จะเอาอย่างไรต่อ ? เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ จนมีผู้เสียหายมากมาย ซึ่งจากการสอบถามผู้ใหญ่ทาง สคบ. ในปีที่มอบรางวัลให้ ธุรกิจดังกล่าวเข้าเกณฑ์พอดี และยังไม่มีเรื่องอื้อฉาว แต่หลังจากนี้ จะมีการตรวจสอบโครงสร้างธุรกิจอย่างละเอียด หากมีความผิดส่งผลต่อผู้บริโภค จะพิจารณาปลดโล่รางวัลของผู้บริหารยักษ์ใหญ่

ตร.เปิดหมายเลข 1599 รับแจ้งความเดือดร้อน
ไปส่องดูในเฟซบุ๊ก ก็มีเพจฯ หนึ่งที่เปิดขึ้นมาเมื่อวาน ใช้ชื่อเพจฯ คล้าย ๆ กับชื่อบริษัทที่กำลังเป็นประเด็นข่าว ต่อท้ายด้วยคำว่า "หลักฐานแชร์ลูกโซ่" อ้างว่าได้ข้อมูลที่มาจากการแฮ็กข้อมูลบริษัท

ความจุมากถึง 161 กิกกะไบต์ เป็นข้อมูลช่วงปี 2022-2024 ยืนยันว่ามีรายละเอียดของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ไปจนถึงงบการเงิน ก่อนจะเริ่มทยอยปล่อยข้อมูลทางการเงินออกมาให้ดูเรื่อย ๆ

คำถามที่น่าสนใจ ถามว่า ปี 2019 ถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีสมาชิกกว่า 300,000 คน มียอดสั่งซื้อรวม 300,000 คน ตัวเลขนี้เกิดจากการซื้อขายภายในสมาชิกด้วยกันเองหรือไม่

ตั้งข้อสังเกตต่อว่า ในรายงานทางการเงินเพียงเดือนเดียว มีผู้ได้รับคอมมิชชัน 311 คน จากเครือข่ายประมาณ 300,000 คน คิดเป็น 0.1% เท่านั้น ที่ได้รับกำไร ตั้งคำถามว่าตัวเลขนี้ สมเหตุสมผลหรือไม่

ขณะที่เมื่อปี 2022 คนที่ใช้ชื่อนำหน้าว่า "บอส" ทุกคน ได้เงินหลายสิบล้านต่อเดือน แล้วปีนี้ 2024 คิดว่าจะได้เงินต่อเดือนได้เท่าไร

อีกเพจฯ ที่ใช้ชื่อว่า "มั่วหุ้น : การวิเคราะห์หุ้นแบบมั่ว ๆ" บอกว่า บริษัทนี้มีหนี้สินเพิ่มปีเดียว 1,360 ล้านบาท ในปี 2564 แต่มียอดขายเกือบ 5,000 ล้านบาท

และอีกโพสต์ ที่นำข้อมูลการแสดงรายได้มาโพสต์ ระบุว่ารายได้ลดลงทุกปี กำไรลดน่าใจหาย ไม่รู้ทำไม

ตั้งแต่เมื่อวานที่มีการสั่งการในที่ประชุม ไม่ได้มีแค่เรื่องที่ผู้เสียหายจะไปร้องให้ตรวจสอบบริษัทขายตรงเพียงอย่างเดียว

แต่รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังสั่งให้เปิดหมายเลข 1599 เพื่อรับแจ้งข้อมูลจากเสียหาย คดีฉ้อโกงทองออนไลน์ ของ "แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์" และคดีหลอกขายทองของ "ใบหนาด" ด้วย ข้อมูลที่ได้มาจะส่งต่อไปยังคณะทำงานสืบสวนสอบสวน ที่ตอนนี้มีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน ระหว่าง บช.สอท. หรือ ตำรวจไซเบอร์ และ บก.ปคบ. ของตำรวจสอบสวนกลาง

ช่วงบ่ายวันนี้ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะตามไปที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อประชุมติดตามความคืบหน้าคดีที่เกี่ยวข้องนี้อีกที ที่น่าจับตามอง คือ ที่ได้สั่งการให้รวบรวมสถิติ จำนวนผู้ต้องหา ผู้เสียหาย มูลค่าความเสียหาย ของกลางทางคดี หรือทรัพย์สินที่ยึด หรืออายัดไว้ตรวจสอบ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และกำหนดแนวทางป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในอนาคตด้วย จะได้รู้กันว่า ปัจจุบันนี้ มีคดีพวกนี้มากน้อยแค่ไหน

"รวยไว-ขายง่าย" กลยุทธ์การตลาดขายตรง
ด้าน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า ในยุคข้าวยากหมากแพง และเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ ประชาชนที่อยู่บ้านและใช้โทรศัพท์มือถือ พอเห็นสื่อหรือโฆษณาอะไรเด้งขึ้นมา ด้วยความรู้ไม่เท่าทันสื่อ ก็กดเข้าไปดู อ่านข้อมูลแบบผิวเผิน และหลงเชื่อคำโฆษณาเชิญชวนให้เข้าไปร่วมทำธุรกิจ เช่น รวยเร็ว เห็นผลสำเร็จเร็ว โดยไม่ต้องลงทุน

ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปร่วมธุรกิจ ต้องย้อนถามตัวเองก่อนว่าเราสามารถทำได้จริงหรือ มีศักยภาพที่จะขายตรงได้หรือไม่ ธุรกิจมีความกดดัน ต้องลงทุน ต้องสร้างเครือข่าย และต้องทำให้สำเร็จตามยอดขาย เมื่อมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นคือความเสี่ยง ต้องสอบถามผู้ที่มีความรู้ และศึกษาหาข้อมูลประกอบเยอะ ๆ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อธุรกิจขายตรง

การตลาดแบบตรง ต่างจากธุรกิจขายตรง
ปรากฏเรื่องนี้ บริษัทที่กำลังถูกพูดถึงมากที่สุด จดทะเบียนทำธุรกิจ "ตลาดแบบตรง" ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจขายตรง

มาดูการทำธุรกิจอาหารเสริม ที่มีดาราเข้าไปเอี่ยว และกำลังโด่งดังอยู่ในขณะนี้ ไปดูการจดทะเบียนประกอบธุรกิจ ธุรกิจนี้จดทะเบียนในรูป "ตลาดแบบตรง" เมื่อปี 2562 กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร จำนวน 1 รายการ คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผ่านเว็บไซต์

จะเห็นว่าการจดทะเบียนธุรกิจ คือ "ตลาดแบบตรง" ไม่ใช่ธุรกิจ "ขายตรง" ซึ่ง 2 ธุรกิจนี้ มีความแตกต่างกัน ธุรกิจ "ตลาดแบบตรง" คือใช้สื่อเป็นตัวขาย มีคนมาซื้อผ่านสื่อ ผู้ซื้ออาจจะเป็นผู้บริโภค หรือ ผู้ประกอบธุรกิจร่วมก็ได้ ธุรกิจแบบนี้จะมีรายได้จากส่วนแบ่ง ยิ่งซื้อมากต้นทุนยิ่งถูก

ต่างจาก "ธุรกิจขายตรง" ที่เรามักคุ้นกันดี แบบนี้จะมีลูกทีมช่วยขาย ยิ่งขายได้มากจะมีรายได้มาก เรียกได้ว่า การดำเนินธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด จากทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เมื่อปี 2561 ในนามผู้ยื่นจดทะเบียนเพียงคนเดียว จากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียน 2 ครั้ง ครั้งล่าสุด ปี 2563 คือ 8 ล้านบาท เพิ่มเป็น 50 ล้านบาท

ไปดูงบการเงินระหว่างปี 2562-2566 บริษัทมีรายได้รวม 5 ปี กว่า 16,000 ล้านบาท ไล่มาตั้งแต่ปี 2562 รายได้รวมกว่า 322 ล้านบาท ปีนั้นมีกำไรสุทธิ 5 ล้านบาท (เฉียด 6 ล้านบาท), ปี 2563 รายได้กว่า 378 ล้านบาท กำไรกว่า 9 ล้านบาท มาปี 2564 รายได้รวมกว่า 4,900 ล้านบาท ปีนี้กำไรกว่า 813 ล้านบาท มาปี 2565 รายได้ปีนี้ อยู่ที่กว่า 3,000 กว่าล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิ 188 ล้านบาท มาปีที่แล้ว 2566 บริษัทมีรายได้รวมกว่า 1,891 ล้านบาท ส่วนกำไรนั้นกวาดไป 19 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง