องคมนตรี ไปติดตามสถานการณ์น้ำ ที่จังหวัดชัยนาท และพระนครศรีอยุธยา

View icon 97
วันที่ 17 ต.ค. 2567 | 20.07 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
ที่สำนักงานชลประทานที่ 12 อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ ไปติดตามภาพรวมสถานการณ์น้ำจากการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราไม่เกิน 2,047 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก มีช่องระบายน้ำ16 ช่อง ทางระบายน้ำฉุกเฉิน กว้าง 10 เมตร ยาว 1,000 เมตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวม 7.5 ล้านไร่ ผลิตไฟฟ้าพลังสะอาดได้ 62.75 ล้านหน่วยต่อปี ระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนลงแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อการอุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรม ในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ช่วยควบคุมปริมาณน้ำเสียและน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รักษาระดับน้ำให้เหมาะกับการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ควบคุมและป้องกันอุทกภัยในแม่น้ำเจ้าพระยา

ในการนี้ องคมนตรี ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแก่กรมชลประทานและเจ้าหน้าที่ ในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจเรื่องสถานการณ์น้ำที่ถูกต้อง รวมทั้งประชาสัมพันธ์การเฝ้าระวัง การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและคลายความวิตกกังวลแก่ราษฎร

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้ กรมส่งเสริมการเกษตร ใช้กระบวนการโครงการโรงเรียนเกษตรกรเป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการเกษตร ในปี 2541 และทรงรับโครงการส่งเสริมและพัฒนาชีวินทรีย์และโรงเรียนเกษตรกร เป็นโครงการในพระราชดำริ เมื่อปี 2542 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "โครงการโรงเรียนเกษตรกรในพระราชดำริ" มีโรงเรียนเกษตรกรบ้านหลั่น อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เป็นโรงเรียนเกษตรกรในพระราชดำริแห่งแรก เน้นการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) เป็นหลัก และขับเคลื่อนโครงการโดยถ่ายทอดความรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร (Farmer Field School : FFS) ด้วยหลักการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated pest management : IPM) ภายใต้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ในการส่งเสริมการเกษตร สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

ในช่วงบ่าย เดินทางไปยังโครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานและเยี่ยมชมพื้นที่โดยรอบฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ดำเนินโครงการฯ เมื่อปี 2562 ปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินการโดยขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ ความยาว 22.5 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อแก้ปัญหาคอขวดของแม่น้ำเจ้าพระยา ขุดคลองลัดเพิ่มความสามารถการระบายน้ำให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากอำเภอบางบาลถึงอำเภอบางไทร เพื่อลดผลกระทบน้ำหลากที่เกาะเมืองอยุธยา และการท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อการอุปโภค-บริโภค ได้ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร

ข่าวอื่นในหมวด