เจ้าหน้าที่ช่วยลูกช้างป่า 1 ขวบ ที่พลัดหลงมาในสวนยางพารา จ.จันทบุรี กลับคืนสู่โขลงได้สำเร็จ ทางทีมสัตว์แพทย์คาดลูกช้างติดกับดักสัตว์ป่าหลายวัน ก่อนจะมีผู้ช่วยเหลือทำให้พลัดหลงจากฝูงเข้าหมู่บ้าน
วันนี้ (18 ต.ค. 67) นายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา เผยถึงความสำเร็จในการช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลงที่สวนยางพารา ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เมื่อวานนี้ (17 ต.ค.) อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: เร่งช่วยเหลือ! ลูกช้างป่า 1 ขวบ พลัดหลงในสวนยางพารา
โดยทีมเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนและเขาสอยดาว, ชุดเคลื่อนที่เร็วฯ ชุดที่ 9 ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่), คณะสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ได้ร่วมกันช่วยเหลือลูกช้างเพศผู้ อายุประมาณ 1 ปี น้ำหนัก 100-130 กก. ที่มีรอยบ่วงเชือกรัดบริเวณข้อเท้าขาหน้าขวา
จากการตรวจร่างกายพบว่า ลูกช้างค่อนข้างผอม มีภาวะขาดน้ำ 10-20% และมีบาดแผลที่ข้อเท้า ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการรักษาและให้น้ำเกลือ ก่อนดำเนินการตามแผนช่วยเหลือและปล่อยลูกช้างกลับคืนสู่ธรรมชาติ
เมื่อเวลา 16.00 น. วานนี้ มีการติดตั้งคอกพักลูกช้างชั่วคราว ตรวจร่างกายลูกช้าง และเตรียมการเคลื่อนย้ายลูกช้าง ทีมเจ้าหน้าที่ใช้โดรนในการติดตามฝูงช้าง ก่อนนำลูกช้างไปยังจุดที่พบฝูงบริเวณอ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่เวลา 21.00 น. วานนี้ ต่อมา เมื่อเวลา 21.30 น. ลูกช้างได้เดินเข้าหาโขลงและได้รับการต้อนรับกลับเข้าโขลง ทีมเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าติดตามพฤติกรรมโขลงช้างจนแน่ใจว่าลูกช้างปลอดภัยแล้ว ก่อนปิดภารกิจเวลา 22.30 น. วานนี้
ทาง นายสิรวิชญ์ ทรัพย์เอนพล สัตวแพทย์ปฏิบัติการ สันนิษฐานว่า ลูกช้างอาจติดกับดักสัตว์ป่าเป็นเวลาหลายวัน ก่อนจะมีผู้พบเห็นและช่วยเหลือ ทำให้พลัดหลงจากโขลงและเข้าสู่หมู่บ้าน
ขณะที่ นายพิทักษ์ กล่าวว่า ความสำเร็จครั้งนี้ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ร่วมกันปฏิบัติภารกิจสำเร็จ เพราะนอกจากจะได้ส่งลูกช้างกลับสู่โขลงอย่างปลอดภัย ยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสัตว์ป่า และความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเสริมสร้างมาตรการป้องกันการลักลอบวางกับดักสัตว์ป่าในเขตอนุรักษ์ เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยต่อไป