แฉกลเกม ทนายตั้ม อ้างบิ๊กการเมือง

View icon 79
วันที่ 30 ต.ค. 2567 | 06.35 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - ยิ่งแฉ ยิ่งเข้มข้น "ทนายมหาเสน่ห์" Ep.3 เปิดกลเกม ทนายตั้ม ใช้นักการเมืองสร้างความน่าเชื่อถือ ชักชวนให้ "มาดามอ้อย" ลงทุน 71 ล้านบาท (2 ล้านยูโร)

แฉกลเกม ทนายตั้ม อ้างบิ๊กการเมือง
นักการเมืองที่เอ่ยมา 3 ชื่อ คงไม่มีใครไม่รู้จัก มีตำแหน่งใหญ่โตในสภาทั้งนั้น คลิปที่ 3 ยาวประมาณ 9 นาที เปิดเผยผ่าน รายการ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" หรือ "Sondhitalk""

"มาดามอ้อย" เศรษฐินี เปิดปม "ทนายตั้ม ษิทรา" ชักชวนให้ทำธุรกิจคล้าย "ล็อตเตอรี่พลัส" พาดพิงถึง "นอท กองสลากพลัส" ว่ากำลังถูกดำเนินคดี

พร้อมอ้างว่า "สลากฯ ออนไลน์" ไม่ใช่ใครทำก็ได้ ต้องมี "สัมปทาน" บอกว่าตนเองได้สัมปทานมา ขอแค่ "มาดามอ้อย" ลงทุนเงิน 2 ล้านยูโร หรือ ประมาณ 71 ล้านบาท จะได้กำไรจากการขาย และการขึ้นรางวัล พร้อมบอกว่า "นาย" ช่วยได้

"นาย" ในที่นั้นก็น่าจะหมายถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพราะมีการวิดีโอคอลให้เห็น

และ ทนายตั้ม ยังได้พาไปพบ นายอนุทิน ชาญวีระกุล, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เจอกันด้วยความบังเอิญ ที่ฮ่องกง เพราะพักโรงแรมเดียวกัน จึงไปกินข้าวด้วยกัน

เมื่อจ่ายไปแล้ว 2 ล้านยูโร ได้แต่เฝ้ารอแอปฯ ที่จะใช้ในการขายสลากฯ และเริ่มเอะใจเพราะว่า "น็อต กองสลากพลัส" ไม่ได้ถูกดำเนินคดี จน ทนายตั้ม ได้นำสัญญาว่าจ้างบริษัทหนึ่ง เขียนแอปฯ ชื่อว่า "นาคี" มาให้เซ็น เพื่อทำธุรกิจ จนมาทราบภายหลังจากคนเขียนแอปฯ ว่า เขียนเอาไว้ แต่ไม่มีคนซื้อ จึงเสนอขายให้ "ทนายตั้ม" 20 ล้านบาท

พี่น้อย เลขาของมาดามอ้อย ยืนยันไม่รู้รายละเอียดในส่วนนี้ รู้เพียงอย่างเดียวก็คือการโอนเงินให้ "ทนายตั้ม"

และยังถูก ทนายตั้ม พาไปสำนักงานฯ ตั้งโต๊ะแถลง ช่วยการันตีความร่ำรวย กินหรู อยู่แพง ว่าได้มาจาก "มาดามอ้อย" หลังมีเรื่องกับ ชูวิทย์ ศึกถุงเงิน 6 ล้านบาท และกำลังถูกรถทัวร์ลง

แฉ "ทนายตั้ม" หลอกซื้อรถ นำไปให้ชาวจีนเช่า
ส่วนปมแตกหัก "รถเขา แต่เราเท่" ถูกเผยในคลิปที่ 4 "มาดามอ้อย" เผยวาเจ็บใจสุด ๆ จ่ายเงินสด ๆ 13 ล้านบาท ซื้อรถเบนซ์ G400 เพื่อเอาไว้ใช้ตอนกลับประเทศไทย ผ่านมาจะ 1 ปี ไม่ได้เอกสาร (เล่มรถ) รู้ภายหลังว่าจ่ายเงินไม่ครบ ราคารถก็ไม่ถึง 13 ล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้นได้ข้อมูลว่า รถคันนี้มีชาวจีนสีเทานำไปใช้งาน จึงขอรถคืน

"อนุทิน" รับรู้จัก "ทนายตั้ม" ย้ำเจอกันบังเอิญ
ในคลิปที่ 3 ที่พาดพิงไปยังนักการเมืองมีคำตอบทั้งจาก "นายอนุทิน" (รองนายกรัฐมนตรี) บอกที่เจอ "ทนายตั้ม" และผู้หญิงอีก 2 คน ที่ฮ่องกง

เป็นความบังเอิญ ตอนนั้น "ทนายตั้ม" บอกว่า ผู้หญิงทั้ง 2 คนประกอบธุรกิจอยู่ที่ยุโรป ก่อนมีเวลาว่างจึงชวนไปกินข้าวกัน ไม่เคยคุยเรื่องธุรกิจ หรือสลากฯ ออนไลน์

เช่นเดียวกับ นายสมศักด์ เทพสุทิน ที่ถูกพาดพิง ยอมรับว่า รู้จักกับ "ทนายตั้ม" ตามประสานักการเมืองที่ รู้จักผู้คนทั่ว ๆ ไป ที่เวลามีเรื่องร้องเรียนก็จะมาที่กระทรวงฯ ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ "ทนายตั้ม" จึงไม่รู้สึกกังวล ต่อเรื่องที่ถูกนำชื่อไปเชื่อมโยงในทุกประเด็น

ด้าน "นอท กองสลากพลัส" ที่ถูกพาดพิงเรื่องนี้ไปด้วย ก็โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวช่วงเย็น "เตือน ใครพาดพิงตัวเองมั่ว ๆ จะฟ้องกลับทุกราย"

เล็งใช้กรณีฉ้อโกงเป็นปกติธุระเอาผิด "ทนายตั้ม"
ทีนี้มาที่มุมการสอบสวนคดี ก็มีรายงานว่า ตำรวจกองปราบ เล็งพิจารณาหลักฐาน ทนายคนดัง หลอกเงิน "มาดามอ้อย" หลังพยานยันชัดโดนหลอกหลายเคส เสียหายรวม 100 ล้าน หากพบพฤติกรรมเข้าข่าย "ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ" อาจบานปลายถึงขั้นโดน "ฟอกเงิน" ที่มีผลไปถึงการยึดทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิดตามมา

ซึ่งประเด็นยึดทรัพย์นี้ ถามว่าพิจารณาจากอะไร ก็มาจากผลสอบปากคำ "มาดามอ้อย" เบื้องต้น ที่มีทั้งปมการโอนเงิน 71 ล้านบาท การซื้อรถเบนซ์ และการหลอกนำเงินไปช่วยใช้หนี้ให้คนใกล้ชิดอีก 39 ล้านบาท

ซึ่งหากผู้เสียหายประสงค์ดำเนินคดีกรณีรถเบนซ์ รวมไปถึงกรณีหลอกให้ช่วยใช้หนี้ เพิ่มเติมอีก 2 คดี ก็จะทำให้พฤติกรรมของทนายคนดังเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ

ทีนี้มาดูทำไม "ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ" ทำไมนำไปสู่การยึดทรัพย์ได้ มากางนิยามนี้กัน "การฉ้อโกงเป็นปกติธุระ" หมายถึง ความผิดที่กระทำซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง จะต้องได้ความว่ากระทำความผิดเป็นสันดานและทำเป็นประจำสม่ำเสมอจำนวนหลายครั้งหลายหน และฉ้อโกงบุคคลอื่นหลายคน จึงจะเข้าฐานความผิดดังกล่าว และนำไปสู่คดีฟอกเงินสามารถยึดทรัพย์สินได้

"ทนายเดชา" ไขปมฉ้อโกงเป็นปกติธุระ
โดยพอเปิดปมนี้ ทนายเดชา ก็โพสต์ให้ความรู้ว่า ข้อหาฉ้อโกงเป็นปกติธุระ ตามประสบการณ์ของผมนั้น จะต้องมีการฉ้อโกงหลายขั้น หลายหนจำนวนมาก และฉ้อโกงประชาชนหลายคน

ดังนั้น การที่ตำรวจจะไปแจ้งข้อหา "ทนายตั้ม" ข้อหาฉ้อโกงเป็นปกติธุระ จะต้องได้ความว่า กระทำความผิดเป็นสันดาน และทำเป็นประจำสม่ำเสมอจำนวนหลายครั้งหลายหน และฉ้อโกงบุคคลอื่นหลายคนด้วย จึงจะเข้าฐานความผิดดังกล่าว และนำไปสู่คดีฟอกเงินสามารถยึดทรัพย์สินได้

ตั้งข้อสังเกต "ทนายตั้ม" ฉ้อโกง หรือผิดสัญญาทางแพ่ง
แต่ ทนายเดชา ก็ยังโพสต์อีกมุมน่าคิดเช่นกัน เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่า "ผิดสัญญาทางแพ่ง" กับ "ฉ้อโกง" ต่างกัน คือ "ฉ้อโกง" ต้องมีเจตนาตั้งแต่แรกหลอกลวงบุคคลอื่น เพื่อให้ได้ทรัพย์สิน

แต่ถ้า "ผิดสัญญาทางแพ่ง" หมายถึง ชวนร่วมลงทุน หรือ มีคำมั่นสัญญาว่าจะปฏิบัติตามสัญญาในอนาคตแล้วผิดสัญญาในอนาคต

คดีทนายตั้ม จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า มีเจตนาตั้งแต่แรก หรือ เจตนาภายหลังถ้าเจตนาภายหลัง ก็จะเป็นเรื่องทางแพ่ง ถ้าเจตนาตั้งแต่แรกก็เป็นเรื่องของการฉ้อโกงทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้

ทีนี้มาดูมุมการจองกฐินทนายตั้มกันต่อ "ทนายอั๋น บุรีรัมย์" ก็นำเอกสารยื่น สภาทนายความ ตรวจสอบมรรยาทของ "ทนายตั้ม" หลังพบพฤติกรรมไม่เหมาะสม พร้อมเร่งรัดให้ตรวจสอบ หลังเคยยื่นเรื่องร้องเรียนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 30 มีนาคมปีที่แล้ว (2566)

"ทนายอั๋น บุรีรัมย์" จี้ตรวจสอบการเสียภาษีของ "ทนายตั้ม"
อีกทั้ง ทนายอั๋น ก็ยังไปร้อง "กรมสรรพากร" ให้ตรวจสอบ "ทนายตั้ม" และบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะสงสัยเรื่องรายได้ที่เคยมีภาพกินหรู อยู่ดี เที่ยวสนุก รายรับได้เสียภาษีหรือไม่ ซึ่งก็มีผู้แทนรับเรื่องนี้ไปตรวจสอบแล้ว

สภาทนายความฯ รับตรวจสอบมรรยาท "ทนายตั้ม"
ทีนี้มาดูมุม นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ หลัง ทนายอั๋น ยื่นตรวจสอบมรรยาท ทนายตั้ม พร้อมเผยว่า จะนำเรื่องเข้าคณะกรรมการเพื่อพิจารณาสั่งลงโทษ ซึ่งจะให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

ทีนี้มาดูเงื่อนไขจะมีผลต่อ "มรรยาททนายความ" ก็ต้องขึ้นอยู่กับเรื่องของการสอบปากคำ ผู้ร้องทุกข์ และเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาจะเข้ามาแก้ต่าง หากบ่ายเบี่ยงไม่ชี้แจง คณะกรรมการสามารถใช้ดุลยพินิจเพิกถอนใบอนุญาตทนายความได้ทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง