สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

View icon 201
วันที่ 30 ต.ค. 2567 | 20.04 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 17.03 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงสถาปนาขึ้นตามโบราณราชประเพณี ว่าด้วยการสร้างวัดประจำพระนคร ตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง นามวัดมีความหมายว่า "วัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง" โดยทรงวางแผนก่อสร้างและกำหนดศิลปกรรมในวัดฯ ด้วยพระองค์เอง มีศาสนสถานสำคัญ ได้แก่ พระวิหารหลวง หลังคาลดซ้อนกัน 2 ชั้นแบบไทยประเพณี หลังคามุงกระเบื้องกาบูเคลือบสีส้มอมน้ำตาลอย่างกรุงศรีอยุธยา ประดับหินอ่อนสีเทาขาวจากเกาะสีชัง มี "พระพุทธสิหังคปฏิมากร" เป็นพระประธานพระวิหารหลวง ด้านหน้าบุษบกเหนือรัตนบัลลังก์ ประดิษฐานพระนิรันตราย มีความหมายว่า "ปราศจากอันตราย" ภายในพระวิหารหลวง มีจิตรกรรมฝาผนังภาพเทพชุมนุมในหมู่เมฆสีฟ้า, พระราชพิธีสิบสองเดือน และภาพจำลองเหตุการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคาในพระบรมมหาราชวัง

ภายหลังพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินแล้วเสร็จ ทอดพระเนตรนิทรรศการ "การอนุรักษ์บานประตูหน้าต่างประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นในประเทศไทย" ซึ่งวัด ร่วมกับ สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว และกรมศิลปากร จัดขึ้นเนื่องในวาระครบ 160 ปี แห่งการสถาปนาพระอาราม 26 พฤศจิกายน 2567 เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาของการอนุรักษ์บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ภายในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นงานประดับมุกชั้นสูงของญี่ปุ่น ยุคเมจิ อายุมากกว่า 100 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สั่งทำขึ้นจากเมืองนางาซากิ จำนวน 114 ชิ้น และเพื่อสานสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและญี่ปุ่น ผ่านงานศิลปกรรมที่ทรงคุณค่า ให้เกิดความภาคภูมิใจและต่อยอดความรู้ด้านการอนุรักษ์ศิลปกรรมให้กว้างขวางยิ่ง ๆ ขึ้นไป

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เดิมชื่อวัดแหลม หรือวัดไทรทอง ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด จนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ เป็นผู้บัญชาการกองทัพในส่วนการรักษาพระนคร ในคราวกบฏเจ้าอนุวงศ์ ทรงตั้งกองบัญชาการบริเวณ "วัดแหลม" นี้ เมื่อปราบกบฏเสร็จสิ้น ทรงร่วมกับพระอนุชาและพระขนิษฐา เจ้าจอมมารดาเดียวกัน 4 พระองค์ บูรณปฏิสังขรณ์วัดแหลม และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ได้พระราชทานนามว่า "วัดเบญจมบพิตร" มีความหมายว่าเป็นวัดของเจ้านาย 5 พระองค์

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างสวนดุสิต จึงทรงทำผาติกรรม สถาปนาวัดขึ้นใหม่ โดยรวมวัดดุสิต หรือ วัดดุสิตารามที่อยู่ใกล้กัน พระราชทานนามว่า "วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม" และมีพระราชดำริให้วัดแห่งนี้ เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม สำหรับมหานิกาย ทั้งทรงสร้างเสนาสนะภายในพระอาราม เช่น พระอุโบสถ พระที่นั่งทรงผนวช พระที่นั่งทรงธรรม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หล่อพระพุทธชินราช และอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธานพระอุโบสถ ที่ออกแบบอย่างงดงาม โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ปัจจุบัน มีพระธรรมวชิราธิบดี เป็นเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์และสามเณร จำพรรษา รวม 82 รูป

ข่าวอื่นในหมวด