เวลา 13.46 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังสุราลัย ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ทรงเป็นองค์ประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม รอบตัดสิน ระดับประเทศ ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรม ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับสู่สากล ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จัดให้มีการประกวดผ้าลายพระราชทานและงานหัตถกรรม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อสืบสานและต่อยอดงานผ้าไทยและงานหัตถกรรม รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจ และเชิดชูเกียรติให้กับผู้ที่สืบสานต่อยอดงานผ้าไทยและงานหัตถกรรม
ปีนี้ เปิดให้กลุ่มผู้ผลิต, ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า และเครื่องแต่งกาย รวมทั้งช่างทอผ้าและงานหัตถกรรมจาก 4 ภูมิภาค ส่งผลงานเข้าประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2567 มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดฯ รวม 8,651 ชิ้นงาน และได้คัดเลือกผ่านเข้าประกวดฯ รอบตัดสิน ระดับประเทศ 78 ผลงาน เป็นประเภทผ้า 72 ผืน เป็นผ้า 14 ประเภท ได้แก่ ผ้าเทคนิคผสมเทคนิคพื้นเมือง, ผ้าเทคนิคเกาะ/ล้วง, ผ้าแพรวา, ผ้าขิด, ผ้าจก/ผ้าตีนจก, ผ้าจากกลุ่มชาติพันธุ์, ผ้าบาติก/ผ้ามัดย้อม/ผ้าเขียนเทียน, ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์, ผ้าปัก, ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ, ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป, ผ้ายกเล็ก, ผ้ายกใหญ่ และผ้าหมี่ข้อ/หมี่คั่น รวมทั้งงานหัตถกรรม 6 ชิ้น ซึ่งคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้แก่ ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและด้านสีธรรมชาติ รวมทั้งดีไซเนอร์ชั้นนำระดับประเทศ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน มีหลักเกณฑ์การให้คะแนนเรื่องต่าง ๆ อาทิ ความชัดของลายผ้าพระราชทาน, การใช้สีและวัตถุดิบจากธรรมชาติ, ความกว้างของผ้า, ความเรียบร้อย, ความสม่ำเสมอของการทอ, ความคิดสร้างสรรค์ และการประยุกต์
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานแบบลายผ้า "สิริวชิราภรณ์" เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เมื่อครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการบ้านคำปุน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ทรงศึกษาลวดลายผ้าจากทุกภูมิภาค และทรงนำมาออกแบบลายผ้า "สิริวชิราภรณ์" เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2567
โดยมีลายพระราชทานหลัก 4 ลาย ได้แก่ ลายวชิรภักดิ์ ที่ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัย จากอักษร "ว" ซึ่งเป็นอักษรพระปรมาภิไธยตัวแรกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567 ทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทานลำดับแรก "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ", ลายหัวใจ สื่อถึงความรักและความห่วงใยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ และลายดอกรักราษฎร์ภักดี ทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทาน "ผ้าลายดอกรักราชกัญญา" สื่อถึงความรักและความภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยพระราชทานแบบตั้งต้น 4 ประเภท ได้แก่ ผ้ากาบบัว, ผ้ายก จก ขิด แพรวา, ผ้ามัดหมี่ และผ้าบาติก ซึ่งทุกประเภทสามารถนำลายพระราชทานหลักทั้ง 4 ลายไปผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยังผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
สำหรับรางวัลการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม ระดับประเทศ ประจำปี 2567 แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 รางวัลพิเศษ ประกอบด้วย Best of the Best รางวัลชนะเลิศรางวัลเดียว ส่วนประเภทที่ 2 เหรียญรางวัลพระราชทาน ซึ่งรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 เหรียญทองคำ, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 เหรียญเงิน, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 เหรียญนาก และรางวัลชมเชย ใบประกาศเกียรติคุณ ซึ่งรางวัล Best of The Best ได้แก่ ประเภทผ้ายกใหญ่ "ผ้ายกราชสำนัก" จากพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน สถาบันสิริกิติ์ โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะเสด็จไปในการพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้