จับตา! ครม.ถกมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก บรรเทาความเดือดร้อนชาวนาในช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดมาก

จับตา! ครม.ถกมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก บรรเทาความเดือดร้อนชาวนาในช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดมาก

View icon 415
วันที่ 12 พ.ย. 2567 | 07.59 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 9,019.01 ล้านบาท

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (12 พ.ย.67) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เตรียมเสนอมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 เพื่อช่วยชาวนา เนื่องจากในช่วงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม เป็นช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดมาก ผ่าน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 59,500.01 ล้านบาท จำแนกเป็น วงเงินสินเชื่อ 50,481.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 9,019.01 ล้านบาท  คือ

1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงินงบประมาณรวม 43,843.76 ล้านบาท แยกเป็น วงเงินสินเชื่อ 35,481.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 8,362.76 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อตามโครงการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 3 ล้านตันข้าวเปลือก โดยกำหนดข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการฯ และวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,500 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,000 บาท ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเองได้รับเต็มจำนวน สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกเข้าโครงการฯ ได้รับในอัตรา 1,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก และเกษตรกรผู้ขายข้าวได้รับในอัตรา 500 บาทต่อตันข้าวเปลือก

2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน วงเงินงบประมาณรวม 15,656.25 ล้านบาท แยกเป็น วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 656.25 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย หรือเพื่อการแปรรูป โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร ร้อยละ 3.50 ต่อปี

นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรฯ ยืนยัน จะพิจารณาแนวทางการดำเนินงานตามระเบียบให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรสูงสุด และเร่งรัดการดำเนินการขั้นตอน ระเบียบ และกฎหมายต่อไป ส่วนโครงการช่วยเกษตรกรไร่ละ 1 พันบาท และ โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง นางนฤมล ยืนยันผลักดันเพื่อช่วยเกษตรกรเต็มที่ อยากได้ทั้งสอง 2 โครงการ รอลุ้นข่าวดี อาจใช้วิธีผสมผสาน ไร่ละ 1 พัน-ปุ๋ยคนละครึ่ง เร็วๆนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง