สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าของสำนักวิชาเกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ที่จังหวัดระยอง

View icon 175
วันที่ 12 พ.ย. 2567 | 20.04 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 08.16 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังสำนักวิชาเกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ทรงติดตามการดำเนินงาน ประจำปี 2567 โดยเป็นสถานที่เรียนรู้และฝึกปฏิบัติด้านเกษตรกรรมสมัยใหม่ หรือ Smart Farmer จัดการศึกษาตามแนวพระราชดำริ "เรียนคู่งาน งานคู่เรียน" เพื่อพัฒนาทักษะและปลูกฝังความเป็นจิตรลดาแก่ผู้เรียน ผลิตบัณฑิตด้านเทคโนโลยีการเกษตร ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตรและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ภาคเศรษฐกิจและการเกษตรของประเทศ ปัจจุบันจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเทคโนโลยีเกษตรนวัต, ระดับ ปวส. ในระบบเรียนคู่งาน นักศึกษาจะได้ฝึกงานในสถานประกอบการ 2 แห่ง คือ บริษัท น้ำตาลไทยรุ่งเรือง และบริษัท สยามคูโบต้า จำกัด (มหาชน) และระดับ ปวช. ในระบบทวิศึกษา สาขาวิชาเกษตรนวัต มีนักเรียนและนักศึกษา รวม 43 คน

โอกาสนี้ ทรงฟังรายงานการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้แก่ การใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงต่อการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในกระชังบก เป็นจุลินทรีย์ที่เกษตรกรทำใช้ได้เองจากวัสดุหาง่ายในท้องถิ่น ช่วยลดรายจ่าย เป็นผลดีต่อคุณภาพน้ำและการเจริญเติบโตของปลาดุก, การสร้างอุปกรณ์ไล่นก เป็นนวัตกรรมเครื่องตรวจจับภาพนกเพื่อนำข้อมูลไปใช้ไล่นก ลดปัญหานกเข้าทำลายผลผลิต, การประดิษฐ์บุ้งกี๋ตักดินติดหลังรถแทรกเตอร์ แบบปลดล็อกเทดินขณะยกบุ้งกี๋ได้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ราคาไม่แพง ใช้งานง่าย ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้

ในปีที่ผ่านมา มีหน่วยราชการและภาคเอกชน ร่วมดำเนินงานฯ จัดส่งบุคลากรเป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอน รวมถึงคิดพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรนวัตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน อาทิ สวนสมรมและป่านิเวศ เจริญเติบโตดี มีความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถขยายพันธุ์พืช เช่น คล้าน้ำ ข่า ปลูกในสวนยางพาราและริมถนน ช่วยปรับปรุงภูมิทัศน์ ผลผลิตแปรรูปเป็นลูกประคบและยาดมสมุนไพร, สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ดำเนินโครงการป่านิเวศและระบบฐานข้อมูล สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบนิเวศ ศึกษาสภาพป่าและสิ่งมีชีวิต พบว่ามีความหลากหลายเพิ่มขึ้น, เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มในเครือฯ วางระบบเกษตรทันสมัย ติดตั้งระบบน้ำสำหรับแปลงสาธิตปลูกพืชสมุนไพรใต้ร่มยางพารา, กรมวิชาการเกษตร ส่งเสริมปลูกไม้ผล กาแฟ และยางพารา ให้ผลผลิตแล้ว, กรมพัฒนาที่ดิน พัฒนาสภาพดินจากที่เป็นดินทราย เมื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ในอนาคตจะพัฒนาระบบน้ำอัจฉริยะ ช่วยควบคุมความชื้นในดิน และช่วยละลายธาตุอาหารที่จำเป็นให้กับต้นไม้, กรมชลประทาน จัดทำแบบจำลองอาคารชลประทานเพื่อการเรียนรู้ ภายในศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต เช่น อ่างเก็บน้ำ อาคารระบายน้ำล้น อาคารท่อรับน้ำเข้านา และคลองส่งน้ำ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ได้เรียนรู้ระบบชลประทาน การบริหารจัดการน้ำ และการส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2568

ที่อาคารแปรรูปผลิตผลการเกษตร มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ามาช่วยเรื่องการทำธุรกิจคิดแบบนวัตกร ส่งเสริมให้นำผลผลิตที่มีสร้างสรรค์เป็นเครื่องดื่ม ขนม และอาหาร ตามความสนใจ ทำให้สนุกและมีความสุขในการเรียนรู้

ที่อาคารรัตนเกษตร ทรงเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฉบับที่ 2 มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี เพื่อร่วมพัฒนาองค์ความรู้และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญระหว่างองค์กรและชุมชนที่เกี่ยวข้อง มีกรอบดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ สนับสนุนเชิงวิชาการเพื่อพัฒนาการศึกษา พัฒนาศักยภาพบุคลากร ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และจัดหาที่ปรึกษาด้านวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงาน

โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสกับคณะผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ สนับสนุนการดำเนินงานของสำนักวิชาเกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา จนประสบผลสำเร็จดี

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อแนวทางการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เกิดทักษะตามแนวพระราชดำริ "เรียนคู่งาน งานคู่เรียน" ที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ยึดถือเป็นหลักปรัชญาการศึกษา สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ "ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน" ที่มุ่งพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ด้านนวัตกรรมการเกษตร ส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ต่อยอดสู่การสร้างชุมชนเข้มแข็ง

ปัจจุบัน สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กำลังเปิดรับสมัครนักเรียน นักศึกษาใหม่ประจำปีการศึกษา 2568 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และระดับปริญญาตรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.cdti.ac.th

เวลา 10.52 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยัง "สวนจันอินทร์" อำเภอวังจันทร์ ของนายเดือน จันอินทร์ อายุ 74 ปี เกษตรกรต้นแบบจากศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต ซึ่งมีใจรักในงานเกษตรไปเรียนรู้การปลูกผักในระบบโรงเรือน จากศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต เมื่อปี 2566 ทำให้มีความรู้ ความเข้าใจ และนำมาประยุกต์กับแปลงผักของตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ

"สวนจันอินทร์" เป็นแปลงปลูกผักปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมี บนพื้นที่ 4 ไร่ มีสมาชิกในครอบครัวเป็นแรงงานหลัก ประกอบด้วย การปลูกผักยกแคร่ในโรงเรือน, ระบบน้ำอัจฉริยะ, การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในโรงเรือน และการปลูกผักลงดินกลางแจ้ง เลือกปลูกผักตามความต้องการของตลาด วางจำหน่ายที่หน้าสวนจันอินทร์ ชื่อว่า "วิสาหกิจชุมชนผักปลอดภัยบ้านคลองหวายโสม" และขายส่งตลาดในชุมชน ผักที่ผลิตได้มาก ได้แก่ กลุ่มผักสลัด, ผักคะน้า, ผักกวางตุ้ง, ผักบุ้ง และผักกินผล เช่น ฟักทอง มะเขือ แตงกวา และผลิตแหนแดง สำหรับเลี้ยงสัตว์ เพราะเป็นพืชที่มีโปรตีนสูง มีรายได้จากยอดขายเฉลี่ย 30,000-70,000 บาทต่อเดือน

ระยะต่อไป จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าสามารถนำผักกลับไปปลูกต่อที่บ้าน, ปรับปรุงดินให้เหมาะสม, จัดการน้ำต้นทุน และจะนำเทคโนโลยีการบริหารงานเกษตร มาช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร, สวทช. และศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต นำระบบ Water fit ที่สามารถรดน้ำ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ให้เหมาะสมกับความต้องการของพืช ตามช่วงเวลา

ปัจจุบันได้ขยายผลองค์ความรู้สู่ระดับอำเภอและจังหวัด มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานในสวนจันอินทร์ และเป็น "เกษตรกรตัวอย่าง" ที่สามารถปลูกผักด้วยหลัก "การบริหารจัดการตามบริบทพื้นที่ ไม่ใช้สารเคมี มีรายได้ตลอดปี คุณภาพชีวิตดี และยั่งยืน"

ข่าวอื่นในหมวด