เวลา 17.07 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ ก่อสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่และขยายการให้บริการผู้ป่วยนอก ให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น มุ่งให้บริการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และครบวงจร โดยตั้งอยู่ระหว่างอาคาร ภปร. และอาคาร สก. เป็นอาคารสูง 15 ชั้น และชั้นใต้ดิน 4 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 50,000 ตารางเมตร มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริการผู้ป่วย กำหนดพื้นที่ในการคัดกรองโรคติดต่ออย่างเป็นระบบ มีพื้นที่รอคอยที่สวยงาม สะดวกสบาย เป็นต้นแบบการบริบาลผู้ป่วยนอกของประเทศและยกระดับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขสู่สากล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามอาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ อันมีความหมายว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระรามาธิบดินทรราชา รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์" พร้อมทั้ง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ประดิษฐานที่อาคารฯ โดยก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2566 และเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2567
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ "สืบสาน รักษา ต่อยอด" ซึ่งน้อมนำมาจากพระปฐมบรมราชโองการ โดยบริเวณทางเดินตึกวชิรุณหิศ โซน "สืบสาน" จัดแสดงเรื่องราวในอดีตตั้งแต่การก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ปี 2457 และพัฒนาการงานบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถึงปัจจุบัน ที่มีศักยภาพในการรองรับการบริการผู้ป่วยนอกได้สูงสุดวันละ 10,000 คน หรือปีละมากกว่า 2 ล้านคน รวมทั้ง พร้อมรับการส่งต่อผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อนกว่า 200,000 คนต่อปี
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงอาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ ชั้น 1 ทอดพระเนตรนิทรรศการฯ โซน "รักษา" ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวปัจจุบันที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย พร้อมจัดแสดงความสำเร็จของโครงการ "แสงแห่งความหวัง" โครงการรักษาพยาบาลด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ซึ่งเป็นการรักษาที่ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน เข้าถึงได้ยาก และมีค่าใช้จ่ายสูง ประกอบด้วย การรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน 72 คน, การผ่าตัดโรคเนื้องอกในช่องอกและช่องท้องด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด 72 คน, การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง 36 คน และการรักษาโรคทางกระจกตาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง 36 คน ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาหายขาดจากโรค มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ส่วนที่ชั้น 2 นิทรรศการฯ โซน "ต่อยอด" จัดแสดงการก้าวไปสู่อนาคต ที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการบริการผู้ป่วย ประกอบด้วย หุ่นยนต์จ่ายยา, หุ่นยนต์ลงทะเบียนและคัดกรอง, หุ่นยนต์ช่วยรักษามะเร็งไทรอยด์ รวมทั้ง การผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หลากหลายรูปแบบในขั้นตอนการบริการต่าง ๆ และการปรับขั้นตอนบริการเพื่อให้ครบวงจรในจุดเดียว โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
ทั้งนี้ อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ เป็นสัญลักษณ์ในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ในการบำบัดโรคภัยให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนถ้วนหน้าเสมอกัน ตลอดจนเชิดชูเกียรติแห่งกรุงสยามให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ และสอดคล้องกับหลักการดำเนินการของสภากาชาดไทย ที่ให้บริการแก่ประชาชนทุกระดับด้วยความเสมอภาค ด้วย
เวลา 19.06 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเงินรายได้จากการจำหน่ายเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
เวลา 19.12 น. พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล รุ่นที่ 78 จำนวน 35 คน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
โอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้พิพากษาประจำศาล รุ่นที่ 77 ที่ยังไม่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เนื่องจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ด้วย
ในการนี้ นางสุภาพ ศิริกังวาลกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ภาค 8 ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง เลขาธิการประธานศาลฎีกา, นายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนางจรีรัตน์ ตันติเวชกุล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ด้วย
โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานแก่คณะผู้พิพากษาใหม่ ซึ่งจะออกไปรับตำแหน่งหน้าที่เป็นครั้งแรก
เวลา 19.25 น. พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช พร้อมด้วยกรรมการมูลนิธิเพื่อพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (แผ่นบูชาทองคำ) พร้อมกรอบลายดอกกุหลาบ และแผ่นจารึกรายละเอียดเหรียญพระบรมรูปฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567