นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ และคณะ เดินทางไปยังโครงการช่วยเหลือราษฎรทุ่งต้นงิ้ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย เสื้อกันหนาวสำหรับเด็ก 121 ตัว และถุงพระราชทาน 258 ถุง
ในปี 2544 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการช่วยเหลือราษฎรทุ่งต้นงิ้ว เพื่อรักษาป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลาย และช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขา พัฒนาอาชีพ ส่งเสริมการทำวนเกษตร ลดการใช้สารเคมี พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำไว้บริโภค รวมถึงกำหนดขอบเขตพื้นที่ป่า และที่ทำกินของราษฎร ปัจจุบันมีประชากร 219 ครัวเรือน 785 คน และตั้งแต่ปี 2564 สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้เปลี่ยนการทำนาแบบข้าวไร่ มาเป็นการทำนาแบบนาขั้นบันได ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องข้าวจากศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่, จัดตั้งกลุ่มผ้าทอบ้านทุ่งต้นงิ้ว ส่งให้กองงานศิลปาชีพ สำนักพระราชวัง จัดตั้งกลุ่มทำไม้กวาดดอกหญ้าเพื่อจำหน่าย ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการหมู่บ้านพิทักษ์ป่า รักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตั้งจุดสกัดระวังไฟป่า การบวชป่า ทำแนวกันไฟ และปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำลำธาร
ในตอนบ่าย เดินทางไปยังโรงพยาบาลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย เชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่บุคลากรของโรงพยาบาล เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ โดยเป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง และกำลังจะขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง อยู่ห่างจากตัวเมือง 260 กิโลเมตร ถือเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมากที่สุดของประเทศ ปัจจุบัน มีบุคลากร รวม 63 คน
จากนั้น เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านนาเกียน อำเภออมก๋อย เชิญสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย เสื้อกันหนาวสำหรับเด็ก 165 ตัว และถุงพระราชทาน 220 ถุง
จากปัญหาการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำลำธารของบ้านนาเกียน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านนาเกียน เมื่อปี 2548 เพื่อให้ความรู้ตามหลักวิชาการ ยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำเนินงาน
ปัจจุบัน พื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟู กว่า 2,500 ไร่ ส่งผลให้พื้นที่กลับมามีสภาพสมบูรณ์ ราษฎรมีรายได้จากการทำนาขั้นบันได ปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิกา อะโวคาโด เลี้ยงผึ้งโพรง และแปรรูปผลิตภัณฑ์ มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 5,500 บาท เป็น 72,000 บาท ต่อครัวเรือน