วานนี้ เวลา 21.07 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จไปทรงเกี่ยวข้าวแปลงนาศิลปะเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ แปลงนากลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุดรธานี และกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ร่วมกันจัดงาน "วันถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพและการสืบสานศิลปะวัฒนธรรมประเพณีข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน ปี 2567" ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2567 และจัดทำแปลงนาศิลปะฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้หันมาทำศิลปะในแปลงนา ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในชุมชน
โอกาสนี้ ทรงเปิดนิทรรศการพันธุ์ข้าวที่ปลูกในแปลงนาศิลปะฯ และนิทรรศการวิชาการศิลปะจากข้าว, เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากข้าว อาทิ ศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร นำเสนอข้าวเหนียวพันธุ์ กข24 และนำปลายข้าวและเมล็ดหักมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการวิจัยและเพิ่มมูลค่า เช่น คราฟเบียร์, สาโท, Snack Bar และไดฟูกุ, ศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมา นำเสนอข้าวเหนียวดำ สายพันธุ์ NRM19009-8-1-1-1 ทนทานต่อสภาพดินเค็ม ซึ่งกรมการข้าวพัฒนาขึ้นใหม่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ชาข้าวกล้องข้าวเหนียวดำ, ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ส่งเสริมให้ปลูกข้าวญี่ปุ่นจาปอนิกา พันธุ์ กขจ1 (วังทอง 72) มีราคาสูง ปลูกได้ดีในอากาศเย็น นำไปทำข้าวปั้นซูชิ ขนม Waffle และสาโท, ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง นำเสนอข้าวสาลีพันธุ์ กขส1 และข้าวบาร์เลย์ ให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูก เพิ่มมูลค่าโดยนำไปแปรรูปเป็นของประดับตกแต่ง งานหัตถกรรม กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น นาฬิกาจากช่อแห้งข้าวสาลีและบาร์เลย์ ชาบาร์เลย์ ขนมปัง และยำข้าวสาลี
"เคียวทรงเกี่ยวข้าว" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงใช้เกี่ยวข้าวเป็นปฐมฤกษ์ในแปลงนา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อปี 2556 เพื่อให้เกษตรกรและประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของวิถีชีวิตชาวนา, จัดแสดง 10 พันธุ์ข้าวไทยที่ได้รับการรับรองในปี 2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, นิทรรศการหน่วยเคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเชิงรุก, การสร้างรายได้เพิ่มจากการอัดฟางจำหน่าย, และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เข้ามาช่วยผลิตข้าว, โครงงานเกี่ยวกับข้าว และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวของโรงเรียนต่าง ๆ, สินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
จากนั้น ทรงเกี่ยวข้าวในแปลงนาศิลปะเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 แปลงนาศิลปะ "เฉลิมชนม์ 72 พรรษา สู่ผืนนาพิศาลศิลป์" นำพันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์ มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะผ่านการปลูกข้าวที่ผสานเทคโนโลยีกับภูมิปัญญาท้องถิ่น แสดงความอุดมสมบูรณ์ของธัญญาหาร วัฒนธรรมที่สืบทอดมา และความงดงามแห่งธรรมชาติของแผ่นดินไทย โดยแปลงนากลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร 72 และข้าวเหนียวดำสายพันธุ์ NRM19009-14-1-1-1 บนเนื้อที่ 5 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 6,000 กิโลกรัม
จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เป็นการแสดงดนตรีพื้นบ้าน บรรยายถึงพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อชาวนา และพระกรณียกิจเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของราษฎร, การแสดงสู่ขวัญข้าว แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวนากับการประกอบอาชีพ โดยทำปราสาทรวงข้าว และนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นจะถวายปราสาทรวงข้าวแด่พระสงฆ์ เพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นปัจจัยนำมาบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัด เป็นความเชื่อว่าจะทำให้ข้าวออกผลผลิตดี, การแสดงลำล่องวิถีอีสาน แสดงวิถีชีวิตของชาวนาภาคอีสาน ถึงขั้นตอนการทำนาในแต่ละเดือน เช่น เดือนเมษายนและพฤษภาคม เตรียมหน้าดิน เดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม หว่านกล้า ดำนา และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการพื้นบ้านจัดแสดงผ้าผืนยาวเขียนภาพบุญผะเวด หรือภาพวาดพระเวสสันดร 15 กัณฑ์ อาทิ กัณฑ์พระมาลัยหมื่น กัณฑ์พระมาลัยแสน และกัณฑ์ชูชก ออกแบบและเขียนโดยรองศาตราจารย์ ชวลิต อธิปัตยกุล ประธานหลักสูตรสาขาศิลปกรรมพื้นถิ่น ระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ร่วมกับนักศึกษาในหลักสูตร โดยใช้สีอีสานพาเลท ที่ได้จากการศึกษาและวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ กุลจิต เส็งนา ประธานหลักสูตรสาขาศิลปกรรมพื้นถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เช่น สีน้ำตาล ดงบัง จากภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ วัดโพธาราม อำเภอดงบัง จังหวัดมหาสารคาม, การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ ผลงานของสาขาศิลปกรรมพื้นถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อาทิ กระเป๋า/ตะกร้าสาน ตุ๊กตาของที่ระลึก หมอน รองเท้า และเสื้อผ้า
ส่วนกลุ่มทอผ้าบ้านหนองใส ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี สาธิตการเลี้ยงไหม สาวไหม และทอโสร่งผ้าไหม จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุบ้านโนนกอก ใช้เวลาว่างทำโมบาย จำหน่ายให้นักท่องเที่ยว และถวายวัดประดับงานกฐิน งานบุญต่าง ๆ ทั้งยังสอนลูกหลานเพื่อสืบทอดเป็นอาชีพเสริมด้วย