เรืองไกร จี้กกต.สอบคำพูดนายกฯ เรื่อง MOU 44

เรืองไกร จี้กกต.สอบคำพูดนายกฯ เรื่อง MOU 44

View icon 108
วันที่ 26 พ.ย. 2567 | 11.13 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เรืองไกร อ้างคำพูดนายกฯ เรื่อง MOU 44 ร้อง กกต. สอบว่าจะเข้าข่ายทำให้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีเพราะกระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมข้อ 6 หรือไม่

วันนี้ ( 26 พ.ย.67) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส่งหนังสือขอให้ กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณี MOU 44 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีเหตุสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) มาตรา 160 (5) ประกอบมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6 หรือไม่

นายเรืองไกร ขอให้ กกต. ตรวจสอบ ดังนี้
             ข้อ 1. จากการเปิดเผยของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่อง MOU 44 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 6 จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบการกระทำดังกล่าว ดังต่อไปนี้
             ตรวจสอบผลการหารือพรรคร่วมรัฐบาล กรณี MOU 44 บันทึกข้อตกลงไทย - กัมพูชา  เกี่ยวกับกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย – กัมพูชา ว่ามีจริงตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผย หรือไม่
             ตรวจสอบว่า MOU 44 ยังคงอยู่ไม่สามารถมีการยกเลิกได้  ใช่หรือไม่ หากจะยกเลิกต้องใช้ข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ ใช่หรือไม่ หากไทยยกเลิกเองก็ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจถูกฟ้องได้ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ใช่หรือไม่
             ตรวจสอบว่ามีการพูดคุยทางทะเลในสัดส่วนที่มีการขีดเส้น จริงหรือไม่ ซึ่ง MOU มีการขีดเส้นไม่เหมือนกัน จริงหรือไม่ แต่เนื้อหาใน MOU เป็นข้อตกลงจะมีการเจรจากันทั้งสองประเทศ ใช่หรือไม่
             ตรวจสอบว่า MOU 44 ยกเลิกไม่ได้ ถ้าไม่มีการตกลงระหว่างสองประเทศ และเรื่องนี้ต้องเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย จริงหรือไม่
             ตรวจสอบว่า MOU 44 ทำขึ้นสมัยใด มีการนำเรื่องนี้ต้องเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ หรือไม่
             ตรวจสอบว่า หากไทยยกเลิก MOU 44 อาจโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาอย่างแน่นอน จริงหรือไม่ กัมพูชาจะใช้กฎหมายใดในการฟ้องร้อง
             ตรวจสอบว่า MOU 44 เป็นเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศ จริงหรือไม่ และไทยยังไม่ได้เสียเปรียบในเรื่องของการตกลงเรื่องนี้ อย่างไร
             ตรวจสอบว่า มีพรรคร่วมรัฐบาลใดที่เห็นด้วยในการเดินหน้า MOU  44 ต่อในเรื่องนี้บ้าง มีการลงนามกันไว้หรือไม่ อย่างไร
             ตรวจสอบว่า เรื่อง MOU 44 ดังกล่าว อาขขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ซึ่งบัญญัติว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” หรือไม่
             ตรวจสอบว่า รัฐบาลนี้ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ จริงหรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเป็นการไม่รักษาไว้ซึ่งอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6 หรือไม่
             ข้อ 2. เนื่องจากมาตรฐานทางหมวด 1 จริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ข้อ 6 กำหนดว่า
             “ข้อ 6 ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบของประชาชน”
             ข้อ 3. เนื่องจากมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 27 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจรยธรรมในหมวด  1  ให้ถือว่ามีลักษณะรายแรง”  ดังนั้น หากการกระทำเรื่อง MOU 44 ดังกล่าว เข้าข่ายมาตรฐานทางจริยธรรม ลักษณะ 1 ข้อ 6 กรณี ย่อมอาจเป็นไปความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 160 (5) ที่ อาจเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง
             ข้อ 4. กรณี จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบการกระทำกรณี MOU 44 ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเปิดเผยไว้ในเว็บรับบาลไทย ข่าวนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว จะเข้าข่ายอันทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเพราะกระทำอันต้องห้ามตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 160 (5) หรือไม่  
              ข้อ 5. พร้อมนี้ได้ส่งสำเนาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เส้นฐานตรงและน่านน้ำภายในของประเทศไทย ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2513  สำเนาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เส้นฐานตรงและน่านน้ำภายในของประเทศไทยบริเวณที่สี่ ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2535  สำเนาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เส้นฐานตรงและน่านน้ำภายในของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2536) ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 สำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16066/2555 และสำเนามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 มาเป็นตัวอย่างเพื่อใช้ประกอบการตรวจสอบของ กกต. ด้วยแล้ว