ฝนยังถล่ม ยะลา-ปัตตานี น้ำท่วมสูงขึ้น

View icon 46
วันที่ 28 พ.ย. 2567 | 11.34 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - น้ำท่วมในเมืองยะลา สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากฝนยังตกหนักต่อเนื่อง ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มต่ำ อพยพมาอยู่บนถนนชั่วคราว ติดตามจากคุณ เตชะวัฒน์ สุขรักษ์ รายงานสดจากจังหวัดยะลา

ฝนยังคงตกหนักต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น และขณะนี้ เส้นทางเข้าออกเมืองยะลา รถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางสัญจรได้ ต้องอาศัยรถของทหาร หรือ เดินฝ่ากระแสน้ำ ส่วนรอยต่อปัตตานีและยะลา ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก น้ำท่วมมิดหลังคา

ช่วงเช้าวันนี้ ทีมข่าวภาคใต้เดินทางจากจังหวัดปัตตานี เข้าพื้นที่จังหวัดยะลา โดยใช้เส้นทางทางหลวงหมายเลข 410 ปัตตานี-ยะลา ซึ่งตลอดเส้นทางฝนตกอย่างหนัก กระทั่งถึงพื้นที่ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อ กับอำเภอเมืองจังหวัดยะลา พบว่าระดับน้ำจากแม่น้ำปัตตานี เอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ 2 ข้างถนน เป็นวันที่ 2 จนทำให้ชาวบ้านต้องพากันอพยพครอบครัว และขนย้ายทรัพย์สิน สิ่งของ มาตั้งเต็นท์อยู่ริมถนน

ซึ่งชาวบ้านบอกว่า ปีนี้ปริมาณน้ำ มากกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมาเนื่องจากบ้านของตน เคยถูกน้ำท่วมเล็กน้อยเท่านั้น แต่ปีนี้น้ำท่วมจมชั้น 1 ของบ้าน และขณะนี้ ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน ขาดน้ำดื่มและอาหารบริโภค

ส่วนที่หน่วยเฉพาะกิจยะลา ในค่ายสิรินธร เป็นพื้นที่ติดกับลำคลอง และกั้นเขตแดน จังหวัดปัตตานี กับยะลา ถูกน้ำเอ่อท่วม จนทหารต้องช่วยกันขนย้ายทรัพย์สินและน้ำดื่ม ที่เตรียมไว้ไปช่วยเหลือประชาชนกันอย่างทุลักทุเล

และเมื่อทีมข่าวพยายามที่จะเข้าไปในเขตเทศบาลนครยะลา ปรากฏว่า รถขนาดเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางไปได้ เนื่องจากระดับน้ำบริเวณตลาดเก่า ชุมชนขนาดใหญ่ชานเมืองยะลา มีน้ำท่วมสูง ชาวบ้านที่จะเดินทางเข้าออกต้องอาศัยรถของทหารเท่านั้น

ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดยะลา ขณะนี้ น้ำท่วมขยายวงกว้างทุกอำเภอ และน้ำป่าจากพื้นที่ป่าต้นน้ำ กำลังจะไหลหลากลงมาเพิ่มเติม และฝนก็ยังคงตกต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ขณะนี้น่ากังวลมาก

ตัวการสำคัญ คือ หย่อมความกดอากาศต่ำ ปกคลุมชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศมาเลเซีย มีแนวโน้มเคลื่อนผ่านทะเลอันดามันตอนล่าง จึงทำให้ฝนถล่มภาคใต้ ซึ่งต้องเฝ้าระวังถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน

เตือนพื้นที่สีแดง ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง และสตูล รวมไปถึงพื้นที่สีเหลือง มีฝนตกหนักแถว ๆ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันเอง ก็มีกำลังแรงขึ้น ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ต้องระวัง ในพื้นที่อ่าวไทย บริเวณที่ฝนตกคลื่นสูงได้มากกว่า 3 เมตร

อัปเดตปริมาณฝนจากแอปพลิเคชันของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สูงสุดในรอบ 24 ชั่วโมง ได้แก่ สถานี อบต.บูกิต จังหวัดนราธิวาส วัดได้ 421.20 มิลลิเมตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง