กระทรวงเกษตรฯ เร่งสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรลดการเผา

กระทรวงเกษตรฯ เร่งสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรลดการเผา

View icon 27
วันที่ 28 พ.ย. 2567 | 15.02 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้ลดลงให้ได้ กษ. เดินหน้าสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรลดการเผา หันมาทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (28 พ.ย.67)ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน ”Kick Off มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ถึงการปฏิบัติงานตามแนวทางขับเคลื่อนมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง และการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากปัจจุบัน PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและภาคเหนือของประเทศไทย ที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก สูงเกินค่ามาตรฐาน และมีแนวโนมเพิ่มสูงขึ้น

“กรมส่งเสริมการเกษตร ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างการตระหนักรู้ให้เกษตรกรหยุดเผาในพื้นที่เกษตรอย่างเข้มข้น อีกทั้ง ต้องไม่เป็นการบังคับเกษตรกร แต่ต้องสร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรแบบไม่เผา อาทิ ส่งเสริมการปลูกพืชมูลค่าสูง หรือสร้างช่องทางการจัดจําหน่ายให้ได้ราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไป ดังนั้น จึงต้องร่วมกับหน่วยงาน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นทุกปีให้ลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจน ” นางนฤมล กล่าว

ส่วนปัญหาหมอกควันที่มาจากต่างประเทศ นางนฤมล ระบุ ได้มีการเจรจาหารือกันในระดับรัฐบาล เพื่อขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านให้ลดการเผา รวมถึงให้คำแนะนำแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการเตรียมความพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง PM2.5 โดยนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ขึ้นบินสำรวจสภาพอากาศพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมทั้งติดตามการนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และจะนำไปขยายในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ ด้วย เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ใช้ข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) จาก GISTDA ในการติดตามตรวจสอบสถานการณ์การเผาในพื้นที่เกษตร ของประเทศไทยจากดาวเทียม TERRA และ AQUA ระบบ MODIS ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2567 พบจุดความร้อน (Hotspot) พื้นที่เกษตร ในประเทศไทยจำนวน 3,255 จุด จากเดิมปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวน 3,647 จุด พบว่าลดลง จำนวน 392 จุด คิดเป็นร้อยละ 10.75 สำหรับผลการดำเนินงานบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ปี 2567 รายพืช 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อ้อย มันสำปะหลัง และไม้ผล ไม้ยืนต้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2567 มีปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทั้งหมดประมาณ 48.6 ล้านตัน นำไปใช้แล้วประมาณ 33.54 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 69 เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3.2 พันล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง