เวลา 16.22 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในงาน "Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ซึ่งพระราชทานพระอนุญาตให้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนจัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และสำนึกในพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้านงานหัตถศิลป์และหัตถกรรมไทยให้คงอยู่ ด้วยพระอัจฉริยภาพ และทรงนำพระประสบการณ์มาใช้ ทำให้สามารถสร้างงาน สร้างรายได้แก่ราษฎรอย่างยั่งยืน
โอกาสนี้ พระราชทานเหรียญรางวัลแก่คณะทำงานกระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน และดีไซเนอร์ที่สนองงานผ่านโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ประจำปี 2567
พระราชทานเหรียญรางวัลการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม ระดับประเทศ ประจำปี 2567 แบ่งเป็น เหรียญรางวัลพิเศษ (เหรียญทอง) Best of the Best ได้แก่ ประเภทผ้ายกใหญ่ จากพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน (สถาบันสิริกิติ์) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเหรียญรางวัลพิเศษขวัญใจแม่น้ำหอม ประเภทผ้ายก จากปาริชาติไหมไทย จังหวัดลำพูน, รางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญนากแก่ผู้ชนะการประกวดฯ ผ้า 14 ประเภท และงานหัตถกรรม รวม 44 รางวัล, ประกาศนียบัตรแก่รางวัลชมเชย ประเภทผ้าฯ และหัตถกรรม รวม 30 รางวัล ปีนี้ มีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า และเครื่องแต่งกาย รวมทั้งช่างทอผ้าและงานหัตถกรรมจาก 4 ภูมิภาค ส่งผลงานเข้าประกวดฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน - 15 สิงหาคม 2567 รวม 8,651 ชิ้นงาน
แล้วพระราชทานโล่รางวัลต้นกล้านารีรัตน แก่ผู้ชนะการประกวดตามโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล 6 รางวัล, พระราชทานเหรียญทองแก่นักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ 1 รางวัล และพระราชทานประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองสมรรถนะ ระดับ 6 สาขาวิชาชีพอนุรักษ์งานศิลป์หัตถกรรม และงานพื้นบ้าน และสาขาผ้าเขียน-พิมพ์ลาย ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) 7 รางวัล
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการ "Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ภายใต้แนวคิด "Silk Success Sustainability" เพื่อสร้างการรับรู้การพัฒนาผลงานผ้าไทยสู่สากล และเผยแพร่ความสำเร็จของโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ตามแนวพระดำริฯ ประกอบด้วย นิทรรศการสืบสานและต่อยอดพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาการถักทอผืนผ้าและหัตถศิลป์พื้นถิ่นไทย จัดแสดงโต๊ะทรงงาน ในงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชน
นิทรรศการโครงการตามแนวพระดำริฯ ผ้าไทยใส่ให้สนุก อาทิ ผ้าลายพระราชทานในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งได้พระราชทาน "ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" เป็นลายแรก เมื่อปี 2563 และในปีนี้ พระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" มีลายผ้าพระราชทาน รวม 9 ลาย, โครงการชาติพันธุ์โมเดลสู่ตลาดสากล สะท้อนความงดงาม วัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม และอัตลักษณ์ประจำถิ่นที่ถ่ายทอดลงบนผืนผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
การจัดแสดงภูมิปัญญาสาธิต เช่น การปักผ้าด้วยมือ งานหัตถศิลป์ของไทยที่มีมาอย่างยาวนาน มีลวดลายที่ละเอียดอ่อนและเทคนิคการปักอันประณีต, การสลักถมเงินถมทอง งานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เป็นที่นิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ และการสาวไหมลงกระบุงด้วยมือแบบพื้นบ้าน ภูมิปัญญาโบราณในการเตรียมเส้นใย ทำให้ได้เส้นไหมที่มีความเรียบ นุ่มลื่น และเงางาม, การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไทยร่วมสมัย ผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค ผ้าไทยจากโครงการศิลปาชีพฯ และผ้าไทยโดยการออกแบบของดีไซเนอร์ชั้นนำของประเทศ 200 บูท รวมทั้ง ร้านโอทอปชวนชิม 50 ร้านค้า
จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงแบบภูมิปัญญาจากผ้าไทย โดยดีไซเนอร์แบรนด์ไทย 16 แบรนด์ ซึ่งนำผ้าไทยที่ถักทอด้วยเทคนิคต่าง ๆ มาออกแบบตัดเย็บให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกวัย ได้แก่ SIRIVANNAVARI ผ้าไหมจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, TIRAPAN ผ้าไหมมัดหมี่ จากไหมทองสุรนารี, THEATRE ผ้าไหมบาติกจากซาโลมาปาเตะ, ASAVA ผ้าไหมขิดจากอุดรธานีและผ้าไหมออแกนซ่า, ISSUE ผ้าไหมบาติกจากรายาบาติก, WISHARAWISH ผ้าไหมมัดหมี่จากโครงการนาหว้าโมเดล, JANESUDA ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้างสรรค์, LANDMEE’ ผ้าไหมบาติกจากโครงการบาติกโมเดล และดีไซเนอร์รุ่นใหม่ นายทวีศักดิ์ จัตุวัน นักออกแบบรุ่นใหม่ แบรนด์ CHAI GOLD LABEL ใช้ผ้าไหมทอมือจาก T.ChattuwanThaisilk ที่มีเอกลักษณ์ คือ ลวดลายที่สร้างสรรค์ ต่อยอดเทคนิคมัดหมี่จากภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นอีสานสู่รูปแบบสมัยใหม่
ผู้ที่สนใจสามารถชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ในงาน "Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ได้จนถึงวันที่ 2 ธันวาคมนี้