“กรมวิชาการเกษตร” รับจดทะเบียนลีลาวดี(ลั่นทม)พันธุ์ชมพูปราจีน เป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นลำดับที่ 3 ใครขอใช้ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้ชุมชนเทศบาลตำบลโคกมะกอก
วันนี้ (4ธ.ค.67) นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมวิชาการเกษตรได้รับคำขอยื่นจดทะเบียนลีลาวดี(ลั่นทม)พันธุ์ชมพูปราจีนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น โดยมีชุมชนเทศบาลตำบลโคกมะกอก จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเจ้าของพันธุ์พืช โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามในหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นของลีลาวดี (ลั่นทม) พันธุ์ชมพูปราจีนเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
สำหรับการจดทะเบียนลีลาวดี(ลั่นทม)พันธุ์ชมพูปราจีน จังหวัดปราจีนบุรี เป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นลำดับที่ 3 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 โดยมีนายกอบกฤต เกษตรากสิกรรม ปราชญ์เกษตรของชุมชนเทศบาลตำบลโคกมะกอก อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นผู้ดูแลอนุรักษ์แปลงสายพันธุ์ลีลาวดี (ลั่นทม) ไว้มากกว่า 100 สายพันธุ์
สำหรับลีลาวดี(ลั่นทม)พันธุ์ชมพูปราจีน มีลักษณะประจำพันธุ์ คือ ลำต้น มีสีเขียวออกเทา ผิวเรียบ ใบ รูปหอกกลับ ปลายใบแหลม ใบแก่สีเขียว ดอก ออกเป็นช่อ กลีบดอกเกยกันปานกลาง สีพื้นของกลีบดอกสีชมพู สีปลายกลีบดอกสีชมพูเข้ม กลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ ลายบนกลีบดอกมีเส้นแตกออกเป็นรัศมี มีลักษณะดีต้องอนุรักษ์ไว้ให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชน
ซึ่งสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช ได้ใช้หลักเกณฑ์การตรวจสอบลักษณะประจำพันธุ์พืชของพืชลั่นทมเพื่อบันทึกข้อมูล พบว่า ลีลาวดี(ลั่นทม)พันธุ์ชมพูปราจีนมีความแตกต่างจากพันธุ์เปรียบเทียบ ทั้ง 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ชมพูบรรณาการ และพันธุ์ชาล็อต แอบเบิร์ต อย่างชัดเจน และได้ตรวจสอบชื่อพันธุ์ ลักษณะประจำพันธุ์ของลีลาวดี(ลั่นทม)พันธุ์ชมพูปราจีน ไม่พบในฐานข้อมูลพันธุ์พืชของกรมวิชาการเกษตร ทำให้ลีลาวดี(ลั่นทม)พันธุ์ชมพูปราจีนเป็นพืชที่มีศักยภาพเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นตามกฎหมายกำหนดได้
เมื่อลีลาวดี(ลั่นทม)พันธุ์ชมพูปราจีน ได้รับการจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นแล้ว ชุมชนเทศบาลตำบลโคกมะกอกมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ผลิต ขาย ส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือจำหน่ายส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น โดยมีอายุการคุ้มครอง 12 ปี และสามารถขยายอายุการคุ้มครองต่อได้คราวละ 10 ปี หากพันธุ์พืชนั้นยังเป็นพันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในชุมชน และยังร่วมกันอนุรักษ์หรือพัฒนาลีลาวดี(ลั่นทม) พันธุ์ชมพูปราจีนที่ยังไม่กระจายพันธุ์ออกไปนอกเขตชุมชน
นอกจากนี้ ชุมชนสามารถขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อนำไปใช้ในการอนุรักษ์พันธุ์พืชของชุมชนต่อไป เพื่อส่งเสริม กระตุ้น สนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของชุมชนและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน
“หากผู้ใดจะใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น จะต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กับชุมชน ซึ่งการจัดสรรผลประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นรายได้ร่วมกันของชุมชนถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงขอเชิญชวนให้ชุมชนที่มีกิจกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในชุมชน และไม่เคยจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ยื่นขอรับความคุ้มครองได้ที่สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2940-7214” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว