นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบข้อเสนอ “การพัฒนาหลักประกันบริการทางสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” ของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ก.ส.ค.) โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ และตน เป็นรองประธานคณะกรรมการ
สาระสำคัญของข้อเสนอดังกล่าว สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชน จะมีการปรับฐานกลุ่มเป้าหมายโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นการให้เงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า โดยไม่ต้องมีการคัดกรองรายได้ของครอบครัว (จากเดิมครัวเรือนต้องมีสมาชิกที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี) และขยายอายุของเด็กให้ครอบคลุม เริ่มจากเด็กในครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 6 ปี (จากเดิมตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 ปี) โดยได้รับเงินในอัตรา 600 บาท/คน/เดือน (เท่าเดิม)
กลุ่มผู้สูงอายุ จะมีการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได
อายุ 60-69 ปี เดือนละ 700 บาท จากเดิม 600 บาท
อายุ 70-79 ปี เดือนละ 850 บาท จากเดิมเดือนละ 700 บาท
อายุ 80-89 ปี เดือนละ 1,000 บาท จากเดิมเดือน 800 บาท
ตั้งแต่อายุ 90 ปีขึ้นไป เดือนละ 1,250 บาท จากเดิมได้เดือนละ 1,000 บาท
เพื่อให้เพียงพอต่อค่าครองชีพของผู้สูงอายุในสถานการณ์ปัจจุบัน
และกลุ่มคนพิการ จะมีการปรับเบี้ยความพิการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพเป็น 1,000 บาทแบบถ้วนหน้า โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการนำคนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ สามารถเข้าถึงสิทธิได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมและเป็นธรรม
นายวราวุธ กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้วางแนวทางการขับเคลื่อนข้อเสนอดังกล่าวในประเด็นเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยความพิการ ดังนี้ เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แจ้งมติ ค.ร.ม. กลับมายังกระทรวง พม. ให้ทราบ พร้อมความเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประกอบ ทางกระทรวง พม. จะดำเนินการพิจารณาในส่วนของการจัดทำข้อมูลกลุ่มเป้าหมายในแต่ละกลุ่ม ได้แก่
1) การจัดทำข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเด็ก ผู้สูงอาย และคนพิการ เพื่อให้ได้จำนวนกลุ่มเป้าหมายและงบประมาณที่ต้องใช้ในการดำเนินการ
2) ประชุมร่วมกับสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สำหรับแหล่งทุนในการดำเนินการ
3) กำหนดแนวทางในการโอนเงินให้กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอสำหรับการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า โดยการได้รับสวัสดิการเป็นไปตามสิทธิ ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาการจัดการเพื่อให้เข้าถึงสิทธิในแต่ละกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
“สำหรับแผนการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว คาดว่าหากไม่ติดขัดในประเด็นใด ต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ประชาชนกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มจะได้รับเงินต่างๆ” นายวราวุธ กล่าวในตอนท้าย
สำหรับงวดเดือนธันวาคม 2567 นี้ เงิน 3 กลุ่ม ที่จะจ่ายให้ในวันที่ 9 ธันวาคม 2567 จะยังคงได้รับในอัตราเดิม จนกว่าจะมีการเคาะสรุป ดังนี้
1.เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาท
2.เบี้ยผู้สูงอายุ 600 – 1,000 บาท
-อายุ 60 – 69 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บาท/เดือน
-อายุ 70 – 79 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 700 บาท/เดือน
-อายุ 80 – 89 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 800 บาท/เดือน
-อายุ 90 ปีขึ้นไป รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาท/เดือน
3.เบี้ยผู้พิการ 800 – 1,000 บาท
-อายุต่ำกว่า 18 ปี ได้รับเงินเบี้ยความพิการจาก อปท. 800 บาท/เดือน ได้รับเพิ่มอีก 200 บาท/เดือน รวม 1,000 บาท
-อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้รับเงินเบี้ยความพิการจาก อปท. 800 บาท/เดือน และสามารถกดเพิ่มจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนอีก 200 บาท/เดือน รวม 1,000 บาท/เดือน
-อายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้รับเบี้ยความพิการจาก อปท. 800 บาท/เดือน ก็จะไม่มีสิทธิได้รับเพิ่มอีก 200 บาท/เดือน
ขอบคุณข้อมูล กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ