เวลา 06.20 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, อธิบดีผู้พิพากษาภาค 8, แม่ทัพภาคที่ 4, ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3, ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8, ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต และข้าราชการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
เวลา 07.09 น. เสด็จพระราชดำเนินจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตถึงยังโรงแรมบียอนด์ กะตะ อำเภอเมือง โดยมีรองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2, รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, ผู้บัญชาการทหารเรือ, นายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะกรรมการจัดงานฯ และนักกีฬา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ โดย สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงร่วมการแข่งขันในทีมเรือใบวายุรุ่น ไออาร์ซี ซีโร
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงพระดำเนินไปยังชายหาดบริเวณด้านหลังโรงแรมฯ ตลอดเส้นทางที่ทรงพระดำเนินผ่าน มีประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และนักท่องเที่ยว เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พร้อมเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้อง ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับเรือพระที่นั่งไปทรงส่งสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ขึ้นเรือใบ รุ่นไออาร์ซี ซีโร่
โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเรือใบ รุ่นไออาร์ซี ซีโร่ ซึ่งเป็นเรือที่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงใช้เข้าร่วมการแข่งขันฯ พร้อมทอดพระเนตรการเตรียมการแข่งขันของทีมวายุ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับเรือพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังโรงแรมที่ประทับ
การแข่งขันครั้งนี้ สมเด็จนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงลงแข่งขันในทีมวายุ หมายเลขใบเรือ THA72 มีสมาชิกในทีม 14 คน ซึ่งการแข่งขันเรือใบรุ่น ไออาร์ซี ซีโร เป็นรายการแข่งขันเรือใบระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดของเรือยอร์ชท้องเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่และมีความเร็วที่สุด ได้รับความนิยมทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย ในประเทศไทย มีการแข่งขันในรุ่นนี้เฉพาะในการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน "ภูเก็ต คิงส์คัพ รีกัตต้า" โดยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงร่วมการแข่งขันรายการนี้ เป็นครั้งที่ 2
สำหรับวันนี้ เป็นการแข่งขันวันสุดท้าย เก็บคะแนนในเรซที่ 10 สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงทำหน้าที่หลักสำคัญของทีม คือ นักกลยุทธ์ในการวางแผน ทอดพระเนตรทิศทางลมตั้งแต่ออกสตาร์ต เพื่อปรับใบเรือให้ตรงกับตำแหน่งลม ซึ่งจะทำให้เรือแล่นไปในทิศทางที่ต้องการโดยเร็วที่สุด
พระปรีชาสามารถด้านการแข่งขันเรือใบของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เป็นที่ประจักษ์ต่อนักแข่งเรือใบทั้งในและต่างประเทศ ทรงใช้พระประสบการณ์ และการฝึกฝน ตลอดระยะเวลาหลายปีในสนามแข่งกีฬาเรือใบทั้งในและต่างประเทศ ทรงได้ประกาศนียบัตรการบังคับเรือยอร์ช (ยอร์ชมาสเตอร์) จากประเทศอิตาลี อีกทั้งทรงนำทักษะการเป็นนักบินมาปรับใช้ ทำให้ทรงอ่านเมฆชนิดต่าง ๆ ร่วมกับการมองคลื่นลม นอกจากนี้ ยังทรงผ่านการอบรมหลักสูตร Electronic Navigation For Racing Yachts เพื่อเพิ่มพูนทักษะการทอดพระเนตรทิศทางลม สภาพดิน ฟ้า และอากาศ รวมถึงการใช้เครื่องมือเนวิเกเตอร์ สำหรับการแข่งขันเรือใบในระดับกรังด์ปรีซ์ ซึ่งถือเป็นทักษะพิเศษสำหรับการแข่งขันกีฬาประเภทนี้
ผลการแข่งขันในวันนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงนำทีมวายุ ชนะเลิศการแข่งขันในเรซที่ 10 และมีคะแนนรวมเป็นอันดับที่ 1 ของรายการ
จากนั้น พระราชทานถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน ภูเก็ต คิงส์คัพ รีกัตต้า ครั้งที่ 36 ประจำปี 2567 ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันเรือใบรุ่น ไออาร์ซี ซีโร ในนามทีมวายุ นอกจากนี้ มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันแต่ละประเภท เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานถ้วยรางวัล จำนวน 19 รางวัล ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และอันดับ 2 เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานรางวัลจานเบญจรงค์ จำนวน 38 รางวัล และผู้ให้การสนับสนุนการแข่งขันฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานโล่ที่ระลึก จำนวน 15 คน
การจัดงาน ภูเก็ต คิงส์คัพ รีกัตต้า สโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์, กองทัพเรือ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี นับแต่ปี 2530 ในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา และถือเป็นการแข่งขันฯ ที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย เนื่องด้วยในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงร่วมการแข่งขัน ส่งผลให้ในปีนี้ได้รับการตอบรับจากนักแข่งขันเรือใบจากทั่วโลก เข้าร่วมการแข่งขันมากเป็นประวัติการณ์ กว่า 500 คน แบ่งเป็นเรือใหญ่ 40 ลำ, เรือเล็ก 111 ลำ และเป็นครั้งแรกที่มีเรือใบคนพิการ จากสโมสรต่าง ๆ ในประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขัน 7 ลำ กำหนดจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 6 ธันวาคม 2567
การแข่งขันครั้งนี้ ยังทำให้จังหวัดภูเก็ต เป็นที่รู้จักในหมู่นักกีฬาและนักท่องเที่ยวมากขึ้น นักกีฬาเยาวชนได้ฝึกฝนทักษะและพัฒนาการเล่นในสนามระดับสากล เป็นโอกาสสำคัญในการคัดเลือกหานักกีฬาเยาวชน เพื่อเป็นตัวแทนทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาเรือใบต่อไป