เปิดลงทะเบียนแล้ว! มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ “คุณสู้ เราช่วย” หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้เสีย เชิญทางนี้
เมื่อวานนี้ (12ธ.ค.67) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง ออกมาตรการชั่วคราวเพิ่มเติม เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม ภายใต้ชื่อโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งในช่วงเริ่มต้น การช่วยเหลือจะครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินหนี้ไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้น
1.1 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
(1) ลดค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยลูกหนี้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 50% 70% และ 90% ของค่างวดเดิม ในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ ซึ่งค่างวดทั้งหมดจะนำไปตัดเงินต้น
(2) พักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับยกเว้นทั้งหมด หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขได้ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่อยู่ภายใต้มาตรการ
ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถชำระมากกว่าค่างวดขั้นต่ำที่กำหนดไว้ได้ เพื่อตัดเงินต้นเพิ่มและปิดจบหนี้ได้ไวขึ้น
1.2 คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้
(1) มีวงเงินสินเชื่อรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกินที่กำหนด โดยพิจารณาแยกวงเงินตามประเภทสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน ดังนี้
o สินเชื่อบ้าน / บ้านแลกเงิน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
o สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท
o สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท
o สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
o กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินเมื่อรวมแล้วไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนด
(2) เป็นสินเชื่อที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567
(3) มีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(3.1) เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน
(3.2) เป็นหนี้ที่ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน แต่เคยมีประวัติการค้างชำระเกิน 30 วัน และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565
1.3 เงื่อนไขของการเข้าร่วมมาตรการ
(1) ลูกหนี้ไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ ยกเว้นกรณีสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เจ้าหนี้สามารถให้สินเชื่อเพิ่มเติมได้โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามความเหมาะสม
(2) ลูกหนี้รับทราบว่า จะมีการรายงานข้อมูลต่อเครดิตบูโร (NCB) ถึงการเข้าร่วมมาตรการ
(3) หากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระค่างวดขั้นต่ำได้ตามที่มาตรการกำหนด หรือไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ได้ เช่น ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ก่อนระยะเวลา 12 เดือน ลูกหนี้จะต้องออกจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่ได้รับการพักไว้ในระหว่างที่เข้ามาตรการ
(4) หากสัญญาสินเชื่อมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องให้ความยินยอมในการเข้าร่วมมาตรการและลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน เพื่อเปลี่ยนสถานะจากหนี้เสียเป็นปิดจบหนี้ และให้ลูกหนี้สามารถเริ่มต้นใหม่ได้
1.1 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ลูกหนี้จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลูกหนี้จะชำระหนี้บางส่วน เพื่อให้สามารถจ่ายและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น
1.2 คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้
(1) ลูกหนี้บุคคลธรรมดา ที่มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (NPL) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567
(2) มีภาระหนี้ต่อบัญชี ไม่เกิน 5,000 บาท โดยไม่จำกัดประเภทสินเชื่อ (สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี)
ในระยะต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-Bank อื่น ๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไป เพื่อร่วมกันผลักดันให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างและครอบคลุมลูกหนี้ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” สามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการและสมัครเข้าร่วมได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 8.30 น. ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 23.59 น. ทั้งนี้ ลูกหนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ BOT contact center ของ ธปท. โทร 1213 หรือ call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการและกดเบอร์ต่อ 99