ห้องข่าวภาคเที่ยง - กลายเป็นเรื่องร้อนฉ่า ขึ้นมาอีก หลัง ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้ง "องค์คณะไต่สวน" เพื่อไต่สวนคดีส่งตัว นายทักษิณ ชินวัตร จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ จนกระทั่งปล่อยให้ นายทักษิณ อยู่โรงพยาบาลจนครบ 180 วัน จนถูกสังคมตั้งข้อสังเกตว่า ป่วยจริง หรือไม่
ป.ป.ช.ประชุม ไต่สวน คดีนักโทษเทวดา นัดแรก
โดย องค์คณะไต่สวน คือกรรมการ ป.ป.ช. ทุกคน ซึ่งตอนนี้มีกรรมการที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 6 คน จากทั้งหมด 9 คน เนื่องจาก 3 คนครบวาระไปก่อนหน้านี้ และอย่างที่เรารายงานไปแล้วข้าราชการ 12 คน จะถูกเรียกเข้ามาไต่สวน มีทั้งข้าราชการประจำ และระดับรัฐมนตรีรวมไปถึง บิ๊กการเมืองด้วย แต่ยังไม่มีชื่อของ พันตำรวจตรี ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพราะตอนนั้นยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี
สำหรับการตั้งองค์คณะไต่สวน โดย คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทุกคนมาร่วมสอบสวน มักจะใช้ในคดีใหญ่เช่นคดีที่มีนายกรัฐมนตรี รองนายกฯ และรัฐมนตรี ถูกกล่าวหา
ม็อบบุก ป.ป.ช.ให้กำลังใจ ไต่สวนคดี นักโทษเทวดา
ส่วนบรรยากาศ ที่หน้า สำนักงาน ป.ป.ช. คุณตู่ จตุพร, คุณพิชิต แกนนำ คปท. , อาจารย์ แก้วสรร อติโพธิ, นายแพทย์ วรงค์ ประธานพรรคไทยภักดี พามวลชนไปตามนัด เพื่อให้กำลังใจ และสนับสนุน ให้ ป.ป.ช. ไต่สวน 12 ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐ เอื้อประโยชน์ในคดีนี้
กฎกระทรวง ปี 52 ย้ายนักโทษต้องขออนุญาตศาลฯ ก่อน
ขณะเดียวกัน คุณชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.ประชาธิปัตย์ ปล่อยเอกสารฉบับหนึ่งออกมา เป็นประกาศกฎกระทรวง ปี 2552 ที่ลงนามโดย นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น เรื่องการนำผู้ต้องขังตามหมายศาล ออกไปนอกเรือนจำ จะต้องขออนุญาตจากศาลก่อน หากนำออกไปโดยที่ศาลยังไม่อนุญาต หรือ ยังไม่ได้ขอ ถือเป็นความเป็นความผิดฝ่าฝืน หมายขังของศาล ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตาม ม.157 โทษถึงขั้นจำคุก 20 ปี โดยจะไปยื่นให้ ศาลฎีกา นักการเมือง เปิดไต่สวนและออกหมายจับนักโทษด้วย
ด้าน คุณไอติม จากพรรคประชาชน มองว่า การที่ ป.ป.ช. ไต่สวนเรื่องนี้เองเป็นเรื่องดี โดยต้องการเห็นกระบวนการ เดินไปอย่างเที่ยงตรง เป็นธรรม