เช้านี้ที่หมอชิต - มาที่คดีชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ก็กลับมาร้อนอีกครั้ง เมื่อมีการรวมตัวกันเฉพาะกิจ ทั้งคนเสื้อเหลือง - เสื้อแดง และกลุ่มอื่น ๆ อีก ซึ่งพร้อมใจกันบุกไปที่ ป.ป.ช. ให้กำลังใจและขอเร่งไต่สวน 12 ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ ไปรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14
เครือข่ายอดีตกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. รวมถึง นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน นำมวลชนมาที่ ป.ป.ช. เพื่อให้กำลังใจและยื่นหนังสือขอให้เร่งรัดไต่สวน 12 ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ ไปรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อให้เรื่องนี้ดำเนินคดีขึ้นสู่ศาล
โดย 4 ข้อเสนอ ที่นำมายื่นต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ คือ การอาจจะป่วยทิพย์ ที่เข้าข่ายทุริต กระทบกระบวนการยุติธรรม การประเมินสุขภาพที่ไม่สุจริต เพราะหลังพักโทษกลับเดินทางไปทั่วประเทศ
ส่วนข้อ 3 และ 4 เป็นการบังคับใช้กฎหมายไม่มีมาตรฐาน จนประชาชนสิ้นศรัทธา และกระบวนการจัดการทุจริตระดับชาติล้มเหลว เพราะสุดท้ายนายทักษิณ ยังกลับมาผลักดันนโยบายประชานิยมไม่หยุด แถมยังประกาศจะพาน้องสาวกลับบ้านด้วย พร้อมมีการกล่าวปราศรัย
ที่น่าจับตา อาทิ นายจตุพร ก็บอกว่า ชัดเจนแล้วนายทักษิณไม่ได้ติดคุกแม้แต่วันเดียว และการมาครั้งนี้ก็มาให้กำลังใจ ป.ป.ช. แต่ก็ยังไม่วางใจจนกว่า ป.ป.ช. จะเรียกเวชระเบียนการรักษาและได้พิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัยแล้ว ถึงวันนั้นตนและคณะจะมาขอบคุณอีกครั้ง
ส่วนนายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า จากที่เคยเป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย และตรวจยึดทรัพย์นายทักษิณมาแล้ว มองว่างานนี้หลักฐานและข้อกฎหมายชัดเจนว่ามีมูลความผิด พร้อมชี้ศาลมีอำนาจให้ขังนายทักษิณได้อีกครั้ง ดังนั้นขอให้เตรียมตัวไว้ได้
ขณะที่ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.ประชาธิปัตย์ ก็ปล่อยเอกสารสำคัญ เป็นกฎกระทรวงยุติธรรม ปี 2552 ในสมัยนั้น นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรัฐมนตรียุติธรรม ชี้เรื่องการนำผู้ต้องขังตามหมายศาล ออกไปนอกเรือนจำ จะต้องขออนุญาตจากศาลก่อน หากไม่อนุญาต หรือ ยังไม่ได้ขอ ถือเป็นความผิดฝ่าฝืนหมายขังของศาล ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตาม ม.157 โทษถึงขั้นจำคุก 20 ปี โดยนายชาญชัยจะยื่นต่อศาลฎีกานักการเมืองให้เปิดไต่สวนด้วย
ทีนี้ดูขั้นตอนไต่สวนเรื่องนี้ ทาง “องค์คณะไต่สวน” คือ กรรมการ ป.ป.ช. ทุกคน จะเรียก 12 คนที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้าราชการประจำ ระดับรัฐมนตรี รวมถึงบิ๊กการเมือง มาไต่สวน แต่วันนี้ก็ยังไม่มีชื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรียุติธรรม เพราะตอนนั้น ยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี
สำหรับการตั้งองค์คณะไต่สวน โดย “คณะกรรมการ ป.ป.ช.” ทุกคนมาร่วมสอบสวน มักจะใช้ในคดีใหญ่ เช่น คดีที่มีนายกรัฐมนตรี รองนายกฯ และรัฐมนตรี ถูกกล่าวหา
ด้าน นายพริษฐ์ หรือ ไอติม โฆษกพรรคประชาชน เห็นว่า การที่ ป.ป.ช. ไต่สวนเรื่องนี้เองเป็นเรื่องดี ต้องการเห็นกระบวนการเดินไปอย่างเที่ยงตรงและเป็นธรรม
ส่วนนายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า นายทักษิณคงไม่ผิดแต่ผิดที่กระบวนการยุติธรรมที่ทำให้นายทักษิณได้รับผลประโยชน์ จึงต้องตรวจสอบว่ากระบวนการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตีตกคำร้องของ นายคงเดชา ชัยรัตน์ ที่ขอให้วินิจฉัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผบ.เรือนจำ กรณีส่งตัว อดีตนายกฯ ทักษิณ รักษาชั้นที่ 14 เพราะเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบเป็นเพียงการกล่าวอ้างเท่านั้น จึงมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง
ขณะที่ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันทำตามระเบียบถูกต้องในการส่งตัว นายทักษิณ ไปรักษาซึ่งดำเนินการสูงกว่ามาตรฐานวิชาชีพทั่วไป พร้อมมองมวลชนที่ไป ป.ป.ช. เหมือนกดดัน อาจทำให้เจ้าหน้าที่กลัว จึงขอให้กำลังใจ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความกล้าหาญ และปราศจากอคติ รวมทั้งยังเผยถึงการแก้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ หลังรับฟังความคิดเห็นเสร็จก็คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในไตรมาสแรก ปี 2568
ส่วนอีกคำร้องของ นายสนธิญา สวัสดี ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัย นายกฯ แพทองธาร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ใช้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หาเสียงเลือกตั้ง และเมื่อได้เป็นรัฐบาล แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลง หลักเกณฑ์และกลุ่มเป้าหมาย ไม่ตรงกับที่หาเสียงไว้ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลเห็นว่านโยบายไม่ได้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ หรือ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยตรงจึงไม่รับคำร้อง
ด้าน นายกฯ แพทองธาร กล่าวถึงประเด็น กกต. มีหนังสือชี้แจงกรณียอมให้นายทักษิณ ครอบงำมาให้ถ้อยคำ กรณีถูกร้องยุบพรรค ว่า ทราบแล้วที่ กกต. เรียกชี้แจง แต่ยังไม่ได้รับหนังสือจาก กกต. จึงยังบอกไม่ได้ว่าจะไปเองหรือไม่