กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือน พ.ย. และสะสม 11 เดือน ใกล้แตะเป้าหมายที่ 9 หมื่นราย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือน พ.ย. และสะสม 11 เดือน ใกล้แตะเป้าหมายที่ 9 หมื่นราย

View icon 67
วันที่ 23 ธ.ค. 2567 | 19.36 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
โค้งสุดท้ายก่อนหมดปี...ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือน พ.ย.และสะสม 11 เดือน ปี ‘67 ส่งสัญญาณบวกขยายตัวเพิ่มขึ้น ใกล้แตะเป้าหมายที่ 9 หมื่นราย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย ผลการจดทะเบียนธุรกิจใหม่สะสม 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน 2567) แตะ 8.3 หมื่นราย โตขึ้น 2.37% เฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2567 จดทะเบียน 6,266 ราย โตขึ้น 4.80% คาดตลอดปี 2567 จัดตั้งธุรกิจใหม่ใกล้แตะเป้าหมาย 9 หมื่นราย ขณะที่การลงทุนของชาวต่างชาติ 11 เดือน แตะ 2.14 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นยืนยงครองแชมป์ลงทุนอันดับ 1 ในไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 6,266 ราย เพิ่มขึ้น 287 ราย เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 (5,979 ราย) และทุนจดทะเบียน 24,219.88 ล้านบาท ลดลง 1,053 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 (25,273 ล้านบาท)

ในเดือนนี้มีนิติบุคคลที่จดทะเบียนทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 3 ราย คือ บริษัท วัฒนาเวชวิวัฒน์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,241 ล้านบาท บริษัท หย่าตง (ไทยแลนด์) จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท และบริษัท ซิโน-ไทย เทคโนโลยี อินดัสเทรียล ปาร์ค กรุ๊ป (ไทยแลนด์) ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 460 ราย ทุนจดทะเบียน 1,337 ล้านบาท ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 460 ราย ทุนจดทะเบียน 4,186 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 278 ราย ทุนจดทะเบียน 514 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.34% 7.34% และ 4.44% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนพฤศจิกายน 2567

อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า การจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 11 เดือนของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีจำนวน 83,219 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (81,291 ราย) เพิ่มขึ้น 1,928 ราย (2.37%) ทุนจดทะเบียน 262,850 ล้านบาท ลดลง 284,006 ล้านบาท (51.93%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (546,856 ล้านบาท) สาเหตุที่ทุนจดทะเบียนลดลงอย่างผิดปกติสืบเนื่องจากปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์โดยมี 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ อย่างไรก็ดี ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมามีการจัดตั้งธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 14 ราย เช่น กิจการค้าส่งและค้าปลีก จำหน่ายแว่นตาและอุปกรณ์ และกิจการ Data Center

การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนพฤศจิกายน 2567 มีจำนวน 2,852 ราย เพิ่มขึ้น 244 ราย (9.36%) เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 (2,608 ราย) และมีทุนจดทะเบียนเลิก 10,173 ล้านบาท ลดลง 7,201 ล้านบาท (41.44%) เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 (17,374 ล้านบาท) ในจำนวนนี้มีธุรกิจเลิกที่ทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจ 1 ราย ทั้งนี้ ช่วงไตรมาสสุดท้ายถือเป็นปกติของของการจดเลิกประกอบกิจการ เนื่องจากธุรกิจต้องการจัดทำบัญชีให้เสร็จภายในรอบปีบัญชีนั้น ซึ่งจะไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัญชีในปีถัดไป สำหรับประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 220 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิก 678 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 156 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 1,660 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 90 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 190 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.74% 6.20% และ 3.58% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนพฤศจิกายน 2567

การจดทะเบียนเลิกสะสม 11 เดือนของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน 2567) มีจำนวน 17,614 ราย ลดลง 244 ราย (1.37%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (17,858 ราย) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 136,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,350 ล้านบาท (26.32%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (107,729 ล้านบาท) โดยในช่วงเวลา 11 เดือนที่ผ่านมามีธุรกิจทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จดทะเบียนเลิกทั้งสิ้น 10 ราย เป็นประเภทธุรกิจที่หลากหลาย เช่น กิจการโทรคมนาคม โรงงานผลิต จำหน่าย ให้เช่าเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียง และค้าปลีกผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,960,452 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 30.54 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 944,008 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.50 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัดจำนวน 740,373 ราย หรือ 78.43% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 16.31 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 202,152 ราย หรือ 21.41% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 0.47 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,483 ราย หรือ 0.16% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 5.72 ล้านล้านบาท ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยขยับเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวที่เป็นตัวกระตุ้นให้เงินเข้าสู่ประเทศ ผู้บริโภคเริ่มผ่อนคลาย ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ประกอบกับการที่ภาครัฐออกนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยภาคเศรษฐกิจและประชาชนพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็ง

การลงทุนประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ 11 เดือน ขณะที่ 11 เดือนของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 884 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 202 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 682 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 213,964 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,671 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 239 ราย (27%) ลงทุน 119,057 ล้านบาท 2) สิงคโปร์ 120 ราย (14%) ลงทุน 16,332 ล้านบาท 3) จีน 117 ราย (13%) ลงทุน 16,674 ล้านบาท  4) สหรัฐอเมริกา  115 ราย (13%) ลงทุน 23,555 ล้านบาท และ 5) ฮ่องกง 62 ราย (7%) ลงทุน 14,508 ล้านบาท
 
การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 11 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 281 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 161 ราย (134%)  (เดือน ม.ค. - พ.ย. 67 ลงทุน 281 ราย / เดือน ม.ค. - พ.ย. 66 ลงทุน 120 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 50,396 ล้านบาท คิดเป็น 24% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 30,865 ล้านบาท (158%) (เดือน ม.ค. - พ.ย. 67) เงินลงทุน 50,396 ล้านบาท / เดือน ม.ค. - พ.ย. 66 เงินลงทุน 19,531  ล้านบาท) เป็นนักลงทุนจาก *ญี่ปุ่น 96 ราย ลงทุน 18,637 ล้านบาท *จีน 67 ราย ลงทุน 9,284 ล้านบาท *ฮ่องกง 19 ราย ลงทุน 5,223 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 99 ราย ลงทุน 17,252 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม (สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์) ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน ธุรกิจบริการชุบแข็ง ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนพลาสติก เป็นต้น

10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ธุรกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัว ปี 2567 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจเชิงลึกมาทำการวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่งและธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการลงทุนหรือขยายธุรกิจ รวมทั้ง รับทราบถึงภาพรวมธุรกิจไทยตลอดปีที่ผ่านมา การวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่ง - ธุรกิจที่ต้องปรับตัว ปี 2567 ได้นำข้อมูลด้านการจดทะเบียนธุรกิจ เช่น จำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ผลประกอบการ (กำไร-ขาดทุน) การเลิกประกอบกิจการ รวมทั้ง ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น แนวโน้มธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ สถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และการแข่งขันของธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง