เวลา 10.00 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ในงานรำลึกวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม 26 ธันวาคม 2452 ครบ 115 ปี
โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ถือกำเนิดจากโรงเรียนคะเด็ตทหารมหาดเล็ก ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รวมคะเด็ตทหารมหาดเล็ก, คะเด็ตทหารหน้า, นักเรียนแผนที่ และทหารสก็อต หรือ ทหารมหาดเล็กรุ่นเยาว์สำหรับแห่โสกันต์เข้าด้วยกัน เรียกว่า คะเด็ตสกูล ใช้พื้นที่หลังพระราชวังสราญรมย์ จากนั้น มีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเรื่อยมา ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาต ขนานนามว่า โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และย้ายไปตั้งอยู่ที่บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก จัดการศึกษาพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับยุคสมัย เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาทางการทหารระดับอุดมศึกษาที่ทันสมัย ผลิตนายทหารสัญญาบัตรหลักให้กับกองทัพบก รับใช้ประเทศชาติทั้งด้านการพัฒนาประเทศ และปกป้องอธิปไตยของชาติ ใช้เวลาศึกษา 5 ปี ประกอบด้วยวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต 5 สาขาวิชา วิทยาศาสตรบัณฑิต 3 สาขาวิชา และศิลปศาสตรบัณฑิต 2 สาขาวิชา นอกจากนี้ ยังต้องเข้ารับการฝึกภาคสนามกับหน่วยทหาร และศูนย์การฝึกตามเหล่าสายวิทยาการต่าง ๆ เช่น หลักสูตรส่งทางอากาศและหลักสูตรการรบแบบจู่โจม รวมถึงศึกษาดูงานนอกสถานที่ เพื่อให้เป็นผู้รอบรู้ มีประสบการณ์ทันโลก เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับพระราชทานยศเป็นว่าที่ร้อยตรี บรรจุเข้ารับราชการในหน่วยต่าง ๆ
ในการนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พลโท อุดม แก้วมหา ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า นำผู้สนับสนุนกองทุนพัฒนาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานของที่ระลึก ปัจจุบัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการพิเศษโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในปีการศึกษา 2567 ทรงสอน 4 วิชา คือ วิชาไทยศึกษา ชั้นปีที่ 2, วิชาประวัติศาสตร์รัสเซีย ประวัติศาสตร์อเมริกา ชั้นปีที่ 4 และวิชาประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ชั้นปีที่ 5
เวลา 13.00 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานโรงเรียนปิยชาติพัฒนา ในพระราชูปถัมภ์ฯ ซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชดำริ เมื่อปี 2532 เพื่อให้บุตรหลานข้าราชการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และบุตรหลานประชาชนในพื้นที่ ได้มีสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา ปัจจุบันมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 549 คน
ในการนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่สำเร็จการศึกษา จำนวน 66 คน อ่านบทอาเศียรวาทกราบถวายบังคมลา ในโอกาสสำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุด โอกาสนี้ มีพระราชดำรัส เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาและดำเนินชีวิต
จากนั้น พระราชทานพระราชวโรกาสให้ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ที่เป็นนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายบัตรถวายพระพรในโอกาสวันปีใหม่ และกราบบังคมทูลรายงานผลการศึกษา การประกอบอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ ที่ผ่านมา มีนักเรียนทุนพระราชทานที่ชีวิตยากลำบาก แต่ตั้งใจเรียน ไม่ท้อถอย เมื่อสำเร็จการศึกษาไปประกอบอาชีพเป็นครู หมอ และข้าราชการ ช่วยเหลือผู้อื่นได้มาก ทรงชื่นชมที่ทุกคนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นหลัง
เสร็จแล้วทอดพระเนตรผลงานที่บูรณาการความรู้ในแต่ละกลุ่มสาระ ต่อยอดเป็นสิ่งประดิษฐ์ ได้รับรางวัลต่าง ๆ บางผลงานใช้เป็นสื่อการสอน และประกอบอาชีพต่อได้ เช่น ที่คาดศีรษะรูปตัวละครวรรณคดีไทย, การทำการ์ดคริสต์มาส, การประดิษฐ์บอร์ดสมองกลใช้วัดค่าต่าง ๆ, สวนแก้ว และกล่องทิชชูจากไม้อัดยางพารา
ในปีการศึกษาหน้า จะเปิดบริการศูนย์ DLTV ซึ่งร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนโรงเรียนปิยชาติพัฒนาฯ และโรงเรียนอื่น ๆ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้หลังเลิกเรียน และวันหยุด
เวลา 17.30 น. เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นางสาวศิวาพร พงศ์เจริญ เลขานุการ มูลนิธิพระอุดมศีลคุณ (เสริม สุวฑฺฒโน) และคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้จากการจัดงานพยากรณ์การกุศล โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิ่งของต่าง ๆ ในโอกาสนี้ พระภิกษุร่วมเข้าเฝ้าด้วย