อจ.หมอสุรัตน์ เผย 5 ข้อ ทำไมกินเหล้าเร็วแล้วตาย

อจ.หมอสุรัตน์ เผย 5 ข้อ ทำไมกินเหล้าเร็วแล้วตาย

View icon 246
วันที่ 27 ธ.ค. 2567 | 11.28 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
อจ.หมอสุรัตน์ เผย 5 ข้อ ทำไมกินเหล้าเร็วแล้วตาย ไม่ใช่เพราะตับพัง แต่แอลกอฮอล์เข้าสมองเร็ว กดก้านสมอง ควบคุมการหายใจ ถ้าเดินเซ ให้หยุดดื่มชั่วคราว ให้เวลาร่างกายได้ขับแอลกอฮอล์

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เวชปฏิบัติทางประสาทวิทยา ให้ข้อมูลถึงอันตรายของพฤติกรรมการดื่มเหล้าเร็ว ผ่านเพจสาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ เพื่อให้มีข้อมูลก่อนดื่มฉลอง เป็นข้อมูลที่ต้องรู้  รู้เร็ว ไม่ตายช้า ไม่ตายเร็ว 5 ข้อ ทำไมกินเหล้าเร็วแล้วตาย ไม่ได้ตายเพราะตับพัง แต่เป็นเพราะมันไปกดสมอง ดังนี้

1. ดูดซึมโคตรเร็ว การดูดซึมและการกระจายตัวของเหล้า ต่อร่างกายเร็วมาก เป็นน้ำ เป็นของเหลว ดื่มปุ๊บ เข้าปั๊บ
- แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว โดย 20% ดูดซึมที่กระเพาะอาหาร และ 80% ที่ลำไส้เล็ก
- การดูดซึมเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังดื่ม และจะเร็วขึ้นหากดื่มในขณะท้องว่าง ดังนั้นระดับในเลือดและระดับของเหล้า เท่ากันทันที

2. ผ่านตัวกรองเข้าสู่สมองโดยตรง กล่าวคือ สมองมีตัวกรอง ชื่อ แนวกั้นเลือด-สมอง (Blood-Brain Barrier)  ปกติกั้นสารต่าง ๆ ได้ แต่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ นั่นคือ เลือดมีแอลกอฮอล์เท่าไหร่ ไหลผ่านมีผลต่อสมองเลย มีผลกระทบต่อสมอง (ระบบประสาทส่วนกลาง)
- กระตุ้น GABA แอลกอฮอล์เพิ่มการทำงานของ Gamma-Aminobutyric Acid (GABA) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดยับยั้ง (Inhibitory Neurotransmitter) หลักของสมอง
- การเพิ่มการทำงานของ GABA ทำให้การทำงานของสมองช้าลง เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ง่วงซึม และสูญเสียการทรงตัว
- ยับยั้ง NMDA Receptor: แอลกอฮอล์ยับยั้งการทำงานของ N-Methyl-D-Aspartate (NMDA) Receptor ซึ่งเกี่ยวข้องกับสัญญาณกระตุ้นในสมอง ส่งผลให้เกิดการสูญเสียความทรงจำ การคิดช้าลง และการลดความตื่นตัว
- กระตุ้นการหลั่งโดปามีน: แอลกอฮอล์กระตุ้นการหลั่ง โดปามีน (Dopamine) ในระบบรางวัลของสมอง ทำให้เกิดความรู้สึกสนุกและมีความสุข ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนต้องการดื่มซ้ำ
- รบกวนการทำงานของสมองส่วนซีรีเบลลัม (Cerebellum) แอลกอฮอล์ส่งผลต่อซีรีเบลลัม ทำให้การเคลื่อนไหว การทรงตัว และการประสานงานของร่างกายผิดปกติ

3. ดื่มเร็ว ตับเผาผลาญไม่ทัน
- การเผาผลาญในตับ แอลกอฮอล์ประมาณ 90% ถูกเผาผลาญในตับผ่าน 2 เอนไซม์หลัก ได้แก่ Alcohol Dehydrogenase (ADH): เปลี่ยนเอทานอลเป็นอะเซตัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) และ Aldehyde Dehydrogenase (ALDH) เปลี่ยนอะเซตัลดีไฮด์เป็นอะซีเตต (Acetate) ซึ่งเป็นสารที่ไม่เป็นพิษ
- ตับสามารถเผาผลาญแอลกอฮอล์ได้ประมาณ 1 ดริ๊งก์มาตรฐานต่อชั่วโมง
- หากดื่มมากกว่านั้น แอลกอฮอล์ส่วนเกินจะสะสมในกระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะมึนเมา ดื่มเร็ว ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะสูงเร็ว เข้าสมองเร็ว

4. ผลกระทบเมื่อระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (BAC) สูงขึ้น
- BAC ต่ำถึงปานกลาง (0.02–0.1%) รู้สึกผ่อนคลาย ลดการยับยั้งชั่งใจ และเริ่มมีความบกพร่องเล็กน้อยทางความคิด
- BAC สูง (0.2–0.3%) เกิดความสับสน คลื่นไส้ สูญเสียการทรงตัว และอาจอาเจียน
- BAC สูงมาก (>0.3%) เสี่ยงต่อ การกดการหายใจ (Respiratory Depression) เนื่องจากแอลกอฮอล์กดการทำงานของก้านสมอง
- BAC วิกฤต (>0.4%) อาจหมดสติ หยุดหายใจ หรือเสียชีวิต

5. ทำไมตาย คือแอลกอฮอล์ระดับสูง กดก้านสมองที่คุมการหายใจ จะหายใจช้า หมดสติ จนขาดออกซิเจนในที่สุด

อาจารย์หมอสุรัตน์ แนะนำทิ้งท้ายไว้ ดังนี้ 1. กิน ดื่มช้า ๆ ดื่มไม่มาก 2. กินอาหารลดการดูดซึมแอลกอฮอล์ 3. ดื่มน้ำตามมาก ๆ 4. ถ้าเดินเซ ให้หยุดดื่มชั่วคราว รอขับแอลกอฮอล์ออกในเวลา 1 ชั่วโมง 5. หากหายใจลำบาก นำส่ง รพ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง