กรมวิชาการเกษตร เร่งเครื่องพาไทยสู่ "Seed hub" ด้วยเทคโนโลยี "จีโนม" เพิ่มรายได้ “เกษตรกรไทย” 3 เท่า
วันนี้ (2ม.ค.67) นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็น Seed hub ด้วยเทคโนโลยีจีโนม (Gene Editing) หรือ GEd จะช่วยยกระดับรายได้ 3 เท่าของ 4 ปี ของเกษตรกรไทยได้อย่างแท้จริง
โดยเทคโนโลยี GEd เป็นเทคนิคในการปรับเปลี่ยนและแก้ไขรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ที่มีความจำเพาะและแม่นยำ หรือแก้ไขให้ได้ยีนที่มีลักษณะตามต้องการ ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs มีความปลอดภัยสูง มีศักยภาพ ใช้ระยะเวลาสั้น ต้นทุนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่ยอมรับขององค์กรนานาชาติ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ใช้ประโยชน์ในเชิงการค้าและการบริโภค
สำหรับพืชจากเทคโนโลยี GEd ที่ได้รับการอนุมัติใช้ประโยชน์ เพื่อรองรับวิกฤตการณ์ความมั่นคงทางอาหารของโลก ได้แก่ มะเขือเทศ (ญี่ปุ่น) ถั่วเหลือง (สหรัฐอเมริกา) กล้วย (ฟิลิปปินส์) ทั้งนี้ ยังมีพืชที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติเชิงพาณิชย์หรืออยู่ในขั้นการศึกษาวิจัย เช่น มันฝรั่งปรับแต่งจีโนมต้านทานโรค (สหรัฐอเมริกา), ถั่วเหลืองโปรตีนสูงปรับแต่งจีโนมและมะเขือเทศปรับแต่งจีโนมทนแล้งและเพิ่มผลผลิต (จีน) เป็นต้น
สำหรับในด้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยการปรับแต่งจีโนมระดับประเทศ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและภาคราชการต่างๆ เพื่อสร้างพืช GEd ทดแทนการนำเข้า เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง พืช GEd พลังงาน เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน รวมถึงพืช Ged ผักและสมุนไพร พร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาพันธุ์พืชใหม่
ส่วนในระดับนานาชาติ กรมวิชาการเกษตร ได้เตรียมความพร้อมสร้างความร่วมมือและเครือข่ายกับต่างประเทศ ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี GEd เพื่อพัฒนาสายพันธุ์พืช GEd และพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยกับสถาบันในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น