เวลา 17.04 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินถึงยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5, แม่ทัพภาคที่ 3, ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5, รองผู้บังคับการกองบิน 41 พร้อมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
เวลา 17.44 น. เสด็จพระราชดำเนินถึงยังวัดพระสิงห์ อำเภอเมือง ในการนี้ เสด็จเข้าพระวิหารหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพัดรองที่ระลึกตราสัญลักษณ์ เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่โต๊ะหมู่หน้าพระประธานประจำพระวิหารหลวง แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชาพระพุทธศรีสรรเพชญ พระประธานพระวิหารหลวง ปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ที่สุดในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าเป็นพระประธานเดิมของพระวิหารหลวงหลังเก่า
พระวิหารหลวง เป็นสถาปัตยกรรมล้านนา ผนังและเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก เครื่องบนไม้สักล้วน หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีมุขหน้าและมุขหลัง ส่วนพระวิหารหลวงเดิมเป็นแบบจตุรมุข ต่อมาได้ปรับปรุงให้เหลือเพียงมุขหน้าและมุขหลัง
จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังพระวิหารลายคำ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธสิหิงค์ (จำลอง) หรือพระสิงห์หลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเททองหล่อและพระราชทานแก่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2512 มีพุทธลักษณะแบบล้านนา ประทับสมาธิเพชร พระหัตถ์แสดงปางมารวิชัย ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน
ในพระวิหารลายคำ ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสังข์ทองและสุวรรณหงส์ เป็นผลงานสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเชียงใหม่
ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะพระมหาธาตุเจดีย์ หรือพระธาตุหลวง พระมหาธาตุประจำปีพระบรมราชสมภพ ปีนักษัตรปีมะโรง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โอกาสนี้ ทรงชักสายสูตรห่มผ้าที่องค์พระธาตุเจดีย์ บนผืนผ้าประดับตราพระปรมาภิไธย วปร. และตราพระนามาภิไธย สท.พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ กลองชุมประโคมถวายเป็นพุทธบูชา ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระเกศาธาตุ ที่บรรจุอยู่ภายในองค์พระมหาธาตุเจดีย์
โดยพญาผายู หรือพระเจ้าผายู โปรดให้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้น ซึ่งต่อมา พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เจ้าแก้วนวรัฐ ครูบาศรีวิชัย และพุทธศาสนิกชน ได้บูรณะปฏิสังขรณ์และเสริมสร้างให้สูงใหญ่ เป็นเจดีย์ทรงระฆังสีทองอร่าม
ต่อจากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังพระวิหารหลวง โดยมีการแสดงฟ้อนถวายพุทธบูชา เป็นการฟ้อนเล็บประกอบวงกลองตึ่งโนงของนักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ และตลอดเส้นทางตกแต่งด้วยเครื่องสักการะบูชา หรือ "ขันดอก" บรรจุข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน ตัวขันสร้างจากโลหะ หรือไม้ ตกแต่งด้วยงานลงรัก ปิดทอง ประดับกระจก งานหัตถศิลป์พื้นเมืองของล้านนา
เมื่อเสด็จเข้าพระวิหารหลวง ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก โอกาสนี้พระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาบำรุงพระอาราม จำนวน 30 คน
วัดพระสิงห์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร สร้างโดยพญาผายู แห่งราชวงศ์มังราย ราวปีพุทธศักราช 1888 เพื่ออุทิศถวายแด่พญาคำฟู เดิมชื่อวัดลีเชียงพระ ต่อมา ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์ มาประดิษฐาน จึงเรียกว่า "วัดพระสิงห์" จนถึงปัจจุบัน ภายในมีปูชนียสถานสำคัญ อาทิ พระวิหารหลวง พระมหาธาตุเจดีย์ พระวิหารลายคำ พระอุโบสถสองสงฆ์ หอไตรโบราณ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนประเดิมในการบูรณปฏิสังขรณ์ และเป็นที่ตั้งของโรงเรียนธรรมราชศึกษา จัดการเรียนการสอนแก่สามเณรและฆราวาส ในชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1-6 ปัจจุบันมี พระเทพสิงหวราจารย์ (โสภณ โสภโณ) เป็นเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์และสามเณร รวม 95 รูป
เวลา 18.29 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง ทรงประกอบพิธีสมโภชพระอัฏฐารส และพระอัครสาวก พร้อมทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในยอดฉัตรทองคำ เพื่อเชิญไปประดิษฐานเหนือปราสาทเฟื้องสันหลังคาพระวิหาร
ในการนี้ ทรงสรงพระบรมสารีริกธาตุ และทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระกรัณฑ์ แล้วทรงหยิบพระกรัณฑ์ลงในยอดฉัตรทองคำ จากนั้น พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในยอดฉัตรทองคำแก่เจ้าพนักงานพระราชพิธี เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานที่บุษบกหน้าพระอัฏฐารส พระประธานประจำวิหารหลวง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน ปางประทานอภัย หรือปางห้ามญาติ พระพุทธรูปประจำวันจันทร์ วันพระบรมราชสมภพ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบูรณะพระอัฏฐารส พระอัครสาวก แท่นแก้ว และชุดหน้าบันพระวิหารหลวง
จากนั้น ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แล้วพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาบำรุงพระอาราม
ต่อจากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังพระธาตุเจดีย์หลวง ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชาพระธาตุเจดีย์หลวง ทรงกราบ เจ้าพนักงานพระราชพิธี ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเทียน ทรงจุดไฟจากโคมไฟฟ้า แล้วพระราชทานให้เจ้าพนักงานพระราชพิธี เพื่อเชิญไปถวายเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง จุดบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดเจดีย์หลวง ได้แก่ พระเจ้าอุ่มเมือง (เสาอินทขีล เสาหลักเมืองเชียงใหม่), พระเจ้าสมปรารถนา, พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) และรูปเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง รูปที่ 2
วัดเจดีย์หลวง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง สร้างในสมัยพญาแสนเมืองมา เจ้าหลวงพระองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย อายุประมาณ 633 ปี เป็นพระธาตุที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ ด้วยเป็นวัดเก่า จึงทำให้เสนาสนะต่าง ๆ ทรุดโทรมตามกาลเวลา ประกอบกับฝนตกหนัก และเคยเกิดแผ่นดินไหว ทำให้พระธาตุเจดีย์หลวงพังทลาย กรมศิลปากรได้บูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จเมื่อปี 2535 พระเจดีย์หลวง เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นระยะเวลากว่า 80 ปี ปัจจุบัน เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วัดเจดีย์หลวง ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี 2481 ปัจจุบันมีพระราชวชิรสิทธิ เป็นเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์ สามเณร จำพรรษา 50 รูป
ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในครั้งนี้ มีราษฎรจากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง พร้อมใจมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ด้วยความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดเส้นทางที่ทรงพระดำเนิน มีกลุ่มสตรีในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กว่า 500 คน ร่วมฟ้อนเทียน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของภาคเหนือ อย่างงดงาม สมพระเกียรติ จากแสงเทียนที่เป็นประกายขณะที่เคลื่อนไหวไปตามจังหวะของเสียงเพลง จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร