สธ. สอบสวนโรค อ.นางรอง บุรีรัมย์ กินหมูดิบงานบุญปีใหม่ ดับ 1 โคม่า 1 ผู้ร่วมงานให้สังเกตอาการใกล้ชิด ย้ำเตือนกินหมูดิบ เสี่ยงไข้หูดับถึงขั้นเสียชีวิต
วันนี้ (7 ม.ค.68) นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีชาวบ้านกินหมูดิบงานบุญปีใหม่เสียชีวิต 1 คน และป่วยอีกหลายคน การสอบสวนโรคในพื้นที่ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ พบชาวบ้านที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้ที่รับประทานเนื้อหมูสด ก้อยหมูดิบในงาน รวมถึงชำแหละเนื้อหมู และทำอาหารสัมผัสกับหมูสด-เลือดหมู นอกจากผู้เสียชีวิต 1 คน แล้ว ยังมีผู้ป่วยที่มีอาการโคม่า 1 คน ส่วนที่เหลือที่ยังไม่มีอาการ แต่ยังต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
โรคไข้หมูดิบเกิดจากการกินเนื้อหมู หรือเลือดหมูสุก ๆ ดิบ ๆ ที่มีเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อผ่านทางทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือการสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย เมื่อได้รับเชื้อประมาณ 1-14 วัน ผู้ติดเชื้อจะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง สูญเสียการได้ยิน ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้
หลังกินหมูดิบ หากมีอาการป่วยสงสัยโรคไข้หูดับ โดยมีไข้สูง ปวดศีรษะ ร่วมกับประวัติเสี่ยง ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูดิบให้ทราบ ทั้งนี้ หากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว ได้รับยาปฏิชีวนะเร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรง เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422