ผบ.ทอ. เร่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศและอวกาศ กำชับแนวปฏิบัติคุมเข้มน่านฟ้าชายแดน ตามขั้นตอนของกฎหมาย
วันนี้ (10 ม.ค.68) พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ( ผบ.ทอ.) กล่าวถึงแนวทางของกองทัพอากาศ ในการสกัดกั้นอากาศยานรุกล้ำเขตแดนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา หลังจากเครื่องบิน F-16 สกัดกั้นอากาศยานไร้คนขับ (ยูเอสวี) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ว่า กองทัพอากาศปฏิบัติทุกอย่างตามกฎหมาย เมื่อมีอากาศยานปรากฎขึ้นมา และมีแนวโน้มทิศทางที่จะเข้าประเทศไทย เมื่อพิจารณาแบ่งตามโซนอนุญาตการบินแล้ว ก็จะนำอากาศยานขึ้นสกัดกั้น แต่หากเป็นภัยคุกคามจริงก็ขออนุมัติในการทำลาย
“มีหลายตัวอย่าง แม้กระทั่งเครื่องของยูเอ็นเองก็เคย เพราะไม่ได้ส่งไฟล์ทแพลน ไม่ปรากฏสัญชาติเข้ามา เราก็ส่งเครื่องของเราขึ้นไปดู ไปส่งทัศนสัญญาณว่าคุณกำลังล้ำเข้ามานะ พอคุยกันรู้เรื่องก็จะปล่อยไป ทุกอย่างว่าไปตามระเบียบ ซึ่งอากาศยานไร้คนขับก็อยู่ในเงื่อนไขนี้ทั้งหมดด้วย เมื่อมีการจับสัญญาณได้ ทางศูนย์ปฏิบัติการก็จะตรวจสอบว่าเป็นแบบไหน ตอนนี้เรากำลังทำในเรื่องการปฏิบัติกับโดรนว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด” ผบ.ทอ. กล่าว
พล.อ.อ.พันธ์ภักดี ย้ำว่า กองทัพอากาศ มอนิเตอร์และเฝ้าระวังอยู่ หากภารกิจไหนที่เข้ามาแล้วมีผลกระทบต่อความมั่นคง ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ หรือ ถ้ามีทิศทางจะเข้ามาก็แจ้งเตือนไป การป้องกันอธิปไตยเป็นหน้าที่ของเรา ทุกอย่างทำตามขั้นตอน แต่ขั้นสุดท้ายต้องขออนุมัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งถือเป็นกฎสากล แม้แต่ประเทศมหาอำนาจที่ขึ้นไปสกัดกั้น ก็ส่งทัศนสัญญาณเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กองทัพอากาศ กำลังตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศและอวกาศ เพราะมีภารกิจพวกนี้อยู่ หากเกิดอะไรขึ้นมา ก็ต้องมีกฎหมายรองรับ และ ประสานความร่วมมือกับกองทัพเรือ กองทัพบก ในการรักษาผลประโยชน์ชาติ