เจ้าหน้าที่สืบสวนวางเพลิง เริ่มสืบหาต้นตอไฟป่าลอสแอนเจลิส

View icon 33
วันที่ 10 ม.ค. 2568 | 18.01 น.
รอบรั้วรอบโลก
แชร์
เจ้าหน้าที่สืบสวนเหตุวางเพลิง เริ่มสืบสวนหาต้นตอไฟป่าที่สร้างความเสียหายอย่างหนักในนครลอสแอนเจลิส ขณะที่ ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างน้อย 10 คน แล้ว

หัวหน้าสำนักงานดับเพลิงลอสแอนเจลิสเปิดเผยกับสำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น (CNN) ของสหรัฐฯ ว่า เจ้าหน้าที่ 21 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนเหตุวางเพลิง 16 คน พร้อมด้วยสุนัขที่ถูกฝึกให้ดมกลิ่นสารเร่งไฟ กำลังเร่งสืบสวนหาต้นตอที่ทำให้เกิดไฟป่า หลังไฟเริ่มลุกไหม้ขึ้นในย่านแปซิฟิกพาลิเซดส์ (Pacific Palisades) ทางตะวันตกของนครลอสแอนเจลิส เมื่อเวลาราว 22.30 น. วันอังคารที่ผ่านมา (7 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

ขณะที่ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจลอสแอนเจลิส (LAPD) ได้ควบคุมตัวชายคนหนึ่งที่สงสัยว่าเป็นผู้จุดไฟเผา และทำให้เกิดไฟป่า เคนเนธ ไฟเออร์ (Kenneth Fire) ไฟป่าจุดล่าสุดที่กำลังลุกไหม้ขึ้น บริเวณเขตติดต่อระหว่างลอสแอนเจลิสกับเวนตูราเคาน์ตี (Ventura County)

สำหรับสถานการณ์ไฟป่าในลอสแอนเจลิส ล่าสุด มีรายงานพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 10 คนแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างแน่นอน โดยยังคงมีไฟป่าจุดใหญ่ ๆ อยู่ 2 จุด คือ ไฟป่า พาลิเซดส์ ไฟเออร์ (Palisades Fire) ในพื้นที่ทางตะวันตก ซึ่งควบคุมไฟได้แล้ว 6 เปอร์เซ็นต์ และไฟป่า อีตัน ไฟเออร์ (Eaton Fire) ในพื้นที่ทางตะวันออก ซึ่งยังควบคุมไม่ได้เลย

ขณะที่ บ้านเรือนกว่า 10,000 หลัง ถูกไฟป่าเผาวอด ประชาชนกว่า 180,000 คน ถูกสั่งให้ต้องอพยพ และอีกราว 200,000 คน อยู่ภายใต้คำเตือนอพยพ และมีพื้นที่ถูกไฟป่าเผาทำลายไปแล้วกว่า 85,000 ไร่

นอกจากนี้ มีรายงานเครื่องบินดับเพลิง ซูเปอร์ สกูเปอร์ (Super Scooper) ที่ยืมมาจากแคนาดา ชนกันกลางอากาศกับโดรนที่ขึ้นบินโดยไม่ได้รับอนุญาต ในบริเวณใกล้กับจุดเกิดไฟป่า พาลิเซดส์ ไฟเออร์ เคราะห์ดีไม่มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้

บริษัทพยากรณ์อากาศเอกชน แอคคิวเวเธอร์ (AccuWeather) ประเมินความเสียหาย และความสูญเสียทางเศรษฐกิจไว้ที่ราว 135,000-150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4.6-5.1 ล้านล้านบาท

ด้านคาร์ลอส กูลด์ (Carlos Gould) นักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ลอสแอนเจลิส พุ่งสูงถึงระดับที่น่าตกใจ โดยอยู่ที่ระหว่าง 40-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าดัชนีคุณภาพอากาศทั่วไปของสหรัฐฯ อย่างมาก และสูงเกินกว่าค่าสูงสุดที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งอยู่ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยฝุ่นละอองจากไฟป่า ซึ่งปะปนมากับเถ้าและเขม่าควัน ก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงไม่เพียงแต่กับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและหัวใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้สูงอายุและเด็กด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง