อัปเดตสิทธิประกันสังคม 2568 กรณีลูกจ้างเจ็บป่วยถึงขั้นต้องหยุดพักรักษาตัวไม่ต้องกลัวขาดรายได้ สำนักประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จ่ายสิทธิประโยชน์จากทองทุนเงินทดแทน โดยลูกจ้างสามารถรับค่าทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือนกรณีแพทย์ให้หยุดพักตามใบรับรองแพทย์
ค่าทดแทนกรณีไม่สามารถทำงานได้
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
1.จ่ายร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน
2.ลูกจ้างมีการหยุดพักรักษาตั้งแต่ 1 วัน รวมกันไม่เกิน 1 ปี
3.มีใบรับรองแพทย์ระบุหยุดพักรักษาตัว
4.ลูกจ้างหยุดพักรักษาตัวจริงตามใบรับรองแพทย์
5.ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดในปัจจุบัน = 20,000 x 70 % = 14,000 บาท
ตัวอย่างการจ่ายค่าทดแทน
วิธีคำนวณค่าทดแทนแบ่งออกเป็น 2 กรณี
1.กรณีได้รับค่าจ้างรายเดือน
(เงินเดือน* x 70%) x จำนวนเดือนที่ลูกจ้างหยุดพัก = จำนวนค่าทดแทนที่ลูกจ้างได้รับ
ตัวอย่าง: หากได้รับเงินเดือน 20,000 บาท และแพทย์สั่งให้หยุดพัก 2 เดือน
= (20,000 x 70%) x 2
ค่าทดแทนที่จะได้รับ = 28,000 บาท
*คำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุด 20,000 บาท
2.กรณีได้รับค่าจ้างรายวัน
(ค่าจ้างรายวัน x 26 x 70%) x จำนวนวันที่ลูกจ้างหยุดพัก ÷ 30 = จำนวนค่าทดแทนที่ลูกจ้างได้รับ
ตัวอย่าง: หากได้รับค่าจ้างรายวัน 363 บาท และแพทย์สั่งให้หยุดพัก 15 วัน
= (363 x 26 x 70%) x (15 ÷ 30)
ค่าทดแทนที่จะได้รับ = 3,303.30 บาท
สิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน
1.ค่ารักษาพยาบาล
ค่ารักษาพยาบาล 65,000 บาท ถ้าบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรัง นายจ้างจ่ายเพิ่มขึ้นอีก แต่ไม่เกิน 100,000 บาท รวมจ่ายจริงไม่เกิน 165,000 บาท
- หากไม่เพียงพอจ่ายเพิ่มได้อีก 300,000 บาท
- หากไม่เพียงพอจ่ายเพิ่มได้อีก 500,000 บาท
- หากไม่เพียงพอจ่ายรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 บาท
เว้นแต่ ลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล หรือกรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล
2.ค่าทำศพ
จ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพ 50,000 บาท (ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง)
3.ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ
กรณีฟื้นฟูสมรรถภาพ ในการทำงานภายหลังการประสบอันตรายสำหรับลูกจ้างที่จำเป็น ต้องได้รับการฟื้นฟู ได้รับตามอัตราดังนี้
-ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัดไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัด ไม่เกินวันละ 100 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 24,000 บาท
-ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานไม่เกิน 40,000 บาท หากมีความจำเป็นให้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 140,000 บาท แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 180,000 บาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์เป็นผู้มีอำนาจพิจารณา
-ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 160,000 บาท
-ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการไม่เกิน 24,000 บาท
4.ค่าทดแทน
ค่าทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือน ไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน (ค่าจ้างสูงสุด 20,000 บาท) โดยมีเงื่อนไขคือ
- แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว ตั้งแต่วันแรก รวมไม่เกิน 1 ปี
- สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายไม่เกิน 10 ปี
- ทุพพลภาพตลอดชีวิต
- ถึงแก่ความตายหรือสูญหาย 10 ปี และค่าทำศพ
หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง