“หมอสุรัตน์” แนะ 5 วิธีวัยเก๋า ดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมาะกับสภาพร่างกาย ไม่งั้นเมาค้างน็อกยาว
เมื่อวานนี้ (19ม.ค.68) ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท เปิดเผยผ่านเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์” ไขข้องใจ เหตุใดเมื่ออายุมากขึ้น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วมีอาการเมาค้าง (แฮงก์) ง่าย ใจความสำคัญ ดังนี้
“1. การเผาผลาญแอลกอฮอล์ที่ลดลง : การทำงานของตับลดลง: ความสามารถของตับในการผลิตเอนไซม์ที่ใช้ในการเผาผลาญแอลกอฮอล์ เช่น Alcohol Dehydrogenase (ADH) และ Aldehyde Dehydrogenase (ALDH) ลดลงตามอายุ ทำให้แอลกอฮอล์และสารพิษอย่างอะซีทาลดีไฮด์ (Acetaldehyde) คงค้างในกระแสเลือดนานขึ้น ส่งผลให้อาการเมาค้างรุนแรงขึ้น
2. ปริมาณน้ำในร่างกายลดลง : เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะมีปริมาณน้ำลดลง ทำให้แอลกอฮอล์ไม่ถูกเจือจางในร่างกายเท่ากับในวัยหนุ่มสาว ส่งผลให้ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดสูงขึ้น แม้ดื่มในปริมาณน้อย
3. การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนอนหลับ : ผู้สูงอายุมักมีการนอนหลับที่ยากและถูกรบกวนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากโครงสร้างการนอนหลับเปลี่ยนไปตามอายุ เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ที่รบกวนการนอนหลับ REM จะยิ่งทำให้อาการเหนื่อยล้าและการนอนหลับไม่สนิทรุนแรงขึ้นในช่วงเมาค้าง
4. ความไวต่อแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น : สมองของผู้สูงอายุมีความไวต่อผลกระทบของแอลกอฮอล์มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้อาการปวดหัว อาการมึนงง และการเคลื่อนไหวที่ไม่สัมพันธ์กันเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น การลดลงของการทำงานของสารสื่อประสาท เช่น GABA และ Dopamine ทำให้การฟื้นตัวจากการดื่มแอลกอฮอล์ยากขึ้น เอาหละ แล้ว ถ้าเรา เริ่มแก่ เวลาดื่ม ทำอย่างไร
วิธีลดอาการเมาค้างในผู้สูงอายุ
1. ดื่มช้า ๆ: เพื่อให้ร่างกายมีเวลาย่อยแอลกอฮอล์
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ: ดื่มน้ำก่อน ระหว่าง และหลังการดื่มแอลกอฮอล์
3. จำกัดปริมาณการดื่ม: ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่น้อยลง
4. หลีกเลี่ยงการดื่มตอนท้องว่าง: การรับประทานอาหารจะช่วยชะลอการดูดซึมแอลกอฮอล์
5. เลือกเครื่องดื่มเบา: เลือกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำและหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีสารคอนเจเนอร์ (Congeners) ซึ่งพบในเครื่องดื่มสีเข้ม เช่น วิสกี้และบรั่นดี
อย่าห้าวนะจ๊ะ อย่าบอกว่า ใจหนุ่ม ร่างกายมันฟ้อง ดื่มหนักนอนเดี้ยงไป 2 วัน เจอมาแล้ว”