หมอเด็กเผย HMPV ญาติสนิท RSV สาเหตุปอดบวมในเด็ก

หมอเด็กเผย HMPV ญาติสนิท RSV สาเหตุปอดบวมในเด็ก

View icon 88
วันที่ 21 ม.ค. 2568 | 13.15 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หมอเด็กเผย HMPV ญาติสนิท RSV สาเหตุปอดบวมในเด็ก ไม่ต้องตื่นตระหนกส่วนใหญ่หายเอง หากไข้สูง หายใจเร็ว หอบ ซึม เพลีย ไม่ดูดนม ควรรีบพาไปพบแพทย์ ควรแจ้งหากมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่เดินทางมาจากจีน ภายในช่วง 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากเชื้อมีระยะฟักตัวประมาณ 2-8 วัน

โรคติดเชื้อ HMPV วันนี้ (21 ม.ค.68) นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า Human Metapneumovirus (HMPV) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อโรคระบบทางเดินหายใจที่พบได้ทั่วไปในเด็ก อยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อ RSV  สามารถก่อโรคได้ตั้งแต่หวัดธรรมดาจนถึงปอดบวมในรายที่รุนแรง หลังได้รับเชื้อมักมีอาการไอ มีไข้ คัดจมูก และอาจมีหายใจลำบากได้

กลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคหัวใจ เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กคลอดก่อนกำหนด  และผู้สูงอายุปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสหรือวัคซีนเฉพาะสำหรับเชื้อนี้ ในปีที่ผ่านมาพบเชื้อนี้ในประเทศไทยค่อนข้างน้อย เชื้อนี้เป็นสาเหตุของภาวะปอดอักเสบในเด็กไทย เป็นสัดส่วนประมาณ 5-6% แต่เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้ในเด็กไทยอาจยังมีน้อย และอยู่ได้ไม่นาน จึงต้องเฝ้าระวังการระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้

678f3d9e7093d8.20816360.jpg

นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีบริการตรวจรักษาหาเชื้อ HMPV ด้วยชุดตรวจ 2 รูปแบบ คือ ชุดตรวจแบบเร็ว และชุดตรวจที่ครอบคลุม 22 สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องตรวจทุกคน เนื่องจากการรักษายังคงเป็นแบบประคับประคองตามอาการ ส่วนใหญ่หายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

ในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น การเกิดภาวะปอดบวมอาจจะไม่ได้จำกัดเฉพาะเชื้อ HMPV แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่หรือเชื้อโรคชนิดอื่นร่วมด้วย แนะนำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบถ้วน โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกัน pneumococcus  ให้นมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน เลิกขวดนมภายในอายุไม่เกิน 1 ขวบครึ่ง หลีกเลี่ยงการนอนหลับคาขวดนม เพื่อป้องกันปอดบวมจากการสูดสำลัก หลีกเลี่ยงการไปฝากเลี้ยงในสถานเลี้ยงเด็ก ตั้งแต่อายุยังน้อย จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ทำความสะอาดห้องนอนสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ หากพบว่าเด็กมีไข้สูง หายใจเร็วหรือหอบ ซึม เพลีย ไม่ดูดนม ควรรีบพาไปพบแพทย์ และควรแจ้งหากมีประวัติเสี่ยงหรือสัมผัสกับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีน ภายในช่วง 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากเชื้อมีระยะฟักตัวประมาณ 2-8 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง