พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา รองประธานคณะกรรมการกองทุนกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ไปติดตามการดำเนินโครงการกำลังใจ ในพระดำริฯ ณ เรือนจำจังหวัดภูเก็ต อำเภอถลาง ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้แผนนโยบายข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ หรือ THE BANGKOK RULES มีแดนควบคุมผู้ต้องขังชาย 8 แดน และแยกคุมขังผู้ต้องขังหญิง ณ แดนควบคุม 2 รับนักโทษเด็ดขาดจำคุกไม่เกิน 30 ปี มีการอบรม พัฒนาปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรม และฝึกวิชาชีพ จัดสวัสดิการ ให้การสงเคราะห์ และพัฒนาสุขภาพอนามัย รวมทั้งด้านสุขาภิบาล
จากนั้น ชมการแสดงมโนราห์ของผู้ต้องขังหญิง ในอาคารฝึกวิชาชีพแดน 2 แดนหญิง ซึ่งทางเรือนจำฯ ได้ขยายอาคารเพื่อใช้ทำกิจกรรม แบ่งเป็น ห้องชมรม To Be NUMBER ONE, ห้องศูนย์เพื่อนใจ, ห้องปฐมพยาบาล, ห้องแม่และเด็ก และห้องเรียน Online เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานภายใต้โครงการกำลังใจฯ มีการสร้างนวัตกรรมติดตามผู้ต้องขังที่พ้นโทษ โดยใช้เครื่องมือ Google Drive และ QR Code ให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษได้ลงทะเบียน เป็นการเพิ่มช่องทางการติดตามผู้ต้องขัง และง่ายต่อการให้ความช่วยเหลือ
มีการทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU "สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้" กับหน่วยงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษ, มีศูนย์ CARE ให้คำปรึกษาแนะนำให้ผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษ และลงพื้นที่เยี่ยมผู้ต้องขังพ้นโทษ ที่ทำงานในสถานประกอบการ, สำนักงานจัดหางาน มาแนะนำให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษ เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิต โดยเรือนจำจังหวัดภูเก็ต ได้ทำบันทึกความเข้าใจกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต, มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต, วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต และวิทยาลัยสารพัดช่างภูเก็ต เข้ามาให้ความรู้ และเพิ่มทักษะด้านวิชาชีพ อาทิ ทำเบเกอรี, การปรุงอาหารจำหน่าย, ช่างเสริมสวย, ซักรีดเสื้อผ้า, ปักเลื่อมผ้าถุงปาเต๊ะ, จักสานผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพลาสติก และนวดแผนไทย โดยปี 2568 จะจัดอบรมวิชาชีพให้ตรงความต้องการกับตลาดแรงงานในพื้นที่ เพื่อให้หลังพ้นโทษ สามารถหางานทำเพื่อเลี้ยงชีพได้
ในตอนบ่าย เดินทางไปยังห้องประชุมเทียนสิรินธร มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับเรือนจำจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อประสานความร่วมมือทางวิชาการ ส่งเสริมการจัดการศึกษา ฝึกอบรม และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังรูปแบบต่าง ๆ และส่งเสริมการจัดการห้องสมุดเป็นห้องสมุดพร้อมปัญญา นำองค์ความรู้ความสามารถของอาจารย์ไปพัฒนา และยกระดับศักยภาพของผู้ต้องขัง ในรูปแบบการจัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาผู้ต้องขังทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และการฝึกอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อม เมื่อคืนสู่สังคมและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ อาทิ สร้างสรรค์ภาพคนเหมือน เส้นสี, การส่งเสริมอาชีพ การทำอาหารคาว-หวาน, ฝึกอบรมการตัดต่อวิดีโอ, การแต่งหน้า ทำผมขั้นพื้นฐาน และชุดการแสดงรองเง็ง, การเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ และป้ายพรรณไม้ในพื้นที่เรือนจำชั่วคราว โดยปี 2568 จะเพิ่มกิจกรรม อาทิ งานหัตถศิลป์จากดิ้นโปร่งโบราณ สู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม การประดิษฐ์เข็มกลัดติดเสื้อจากดิ้นโปร่งทอง, กิจกรรมพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเรือนจำชั่วคราวบางโจ
จากนั้น ไปเยี่ยมบ้าน นางอโนมา ฝางเสน อายุ 50 ปี คนต้นแบบ ซึ่งหลังพ้นโทษ ประกอบอาชีพรับจ้าง เป็นผู้จัดการรีสอร์ต ร้านอาหารวิวัณ หาดในทอน และมีร้านนวดแผนไทยอยู่ใกล้เคียง รับผู้พ้นโทษไปทำงาน ทั้งที่ร้านอาหาร และร้านนวดแผนไทย เป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพให้มีรายได้ดูแลตนเอง