วานนี้ เวลา 19.32 น. ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณสะพานดำรงสถิต ถนนเจริญกรุง ทรงเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ "วชิรสถิต 72 พรรษา" และซุ้มประตู "วชิรธำรง 72 พรรษา" เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 แล้ว ได้ทรงพระดำเนินตามเส้นทางถนนเจริญกรุง ไปยังซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ "วชิรธำรง 72 พรรษา" ที่ห้าแยกหมอมี เขตสัมพันธวงศ์ โดยถนนเจริญกรุงสายนี้ มีความสำคัญทางการค้า และมีความรุ่งเรืองมาแต่อดีต และยังเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวจีน ชุมชนชาวตะวันตก และชุมชนชาวมุสลิม รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีน
ตลอดเส้นทางสองฝั่งถนนเจริญกรุง มีพสกนิกร และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จอย่างเนืองแน่น เพื่อร่วมชื่นชมพระบารมี แสดงออกถึงความจงรักภักดี และความศรัทธา ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่างเปล่งเสียงทรงพระเจริญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงแย้มพระสรวล และโบกพระหัตถ์ ให้แก่ประชาชนตลอดเส้นทางที่เสด็จพระราชดำเนินผ่าน ยังความปลื้มปีติแก่พสกนิกร ที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จเป็นล้นพ้น
ในการนี้ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย พร้อมภริยา และนายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน พร้อมคณะกรรมการฯ, นายชิม ชินวิริยกุล นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย, นายกิตติ อิทธิภากร ประธานสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทย, สมาคมจีนเก้าภาษา, และองค์กรชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ โดยมีนักร้องเยาวชน ร่วมขับร้องเพลง "บ้านเกิดเมืองนอน"
สำหรับซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ "วชิรธำรง 72 พรรษา" ด้านหลังมีข้อความภาษาจีนว่า "จั่วโหยว หยงเอี้ยน" หมายถึง พสกนิกร ร่มเย็นเป็นสุขชั่วนิรันดร์ และเป็นเอกลักษณ์แห่งการจารึกความเทิดทูนของพสกนิกรที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสะท้อนถึงพระราชจริยวัตรแห่งความกตัญญูกตเวที อันเป็นคุณธรรมสำคัญ ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งพลัง ความยิ่งใหญ่ และความอ่อนน้อมต่อพระผู้มีพระคุณ ทรงกตัญญูต่อสมเด็จพระบรมราชบุพการี
ระหว่างเส้นทางที่ทรงพระดำเนิน มีคณะกรรมการหอการค้าไทย-จีน สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย และสมาคมจีนเก้าภาษา สหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทย และองค์กรชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายของที่ระลึก ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ทรงให้ความสำคัญกับการเจริญสัมพันธไมตรี กับนานาอารยประเทศ และทรงตั้งพระราชหฤทัยมั่นในการดูแลทุกข์สุขราษฎร ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ให้มีความเป็นอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
เวลา 17.14 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินถึงยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5, แม่ทัพภาคที่ 3, ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5, ผู้บังคับการและรองผู้บังคับการกองบิน 41 พร้อมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ทรงรับการถวายความเคารพจากกองทหารเกียรติยศ
ก่อนประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ โดยมีประชาชนชาวเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียงพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลืองมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ เพื่อชื่นชมพระบารมีด้วยความจงรักภักดี โดยระหว่างเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินผ่าน มีสตรีชาวเหนือ 900 คน แต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง พร้อมใจฟ้อนเทียน และฟ้อนเล็บ ที่มีความอ่อนช้อยและงดงาม เป็นวัฒนธรรมและประเพณีโบราณของชาวล้านนา เพื่อถวายพระเกียรติ
เวลา 17.52 น. เสด็จพระราชดำเนินถึงยังลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในพิธีบายศรีทูลพระขวัญ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ, เจ้านายฝ่ายเหนือ และพสกนิกรชาวจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันจัดขึ้นตามประเพณีวัฒนธรรมของชาวล้านนา ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความจงรักภักดี
ในการนี้ ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์
จากนั้น เสด็จเข้าพลับพลาพิธี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลอากาศตรี เจ้าวัฒนัน ณ ลำพูน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเจ้าแสงตะวัน ณ เชียงใหม่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
ตามคติของชาวล้านนาเชื่อว่า ในร่างกายของมนุษย์ประกอบขึ้นจากธาตุทั้ง 4 และมีขวัญ 32 ขวัญ โดยขวัญเป็นเหมือนสิ่งที่คอยกำหนดชีวิต จิตใจ และความเป็นอยู่ หากขวัญอยู่ในร่างกายครบถ้วนก็จะมีสุขภาพแข็งแรง จิตใจแจ่มใส แต่ถ้าขวัญอ่อน หรือขวัญหายก็จะเจ็บป่วย "การสู่ขวัญ" จึงเป็นพิธีกรรมที่สำคัญของชาวล้านนา เพื่อเรียกขวัญให้กลับคืนสู่ร่างกาย หรือเสริมสร้างขวัญให้แข็งแรง และเป็นสิริมงคล ซึ่งจะทำเมื่อเจ็บป่วย เดินทางกลับจากแดนไกล หรือวาระอันเป็นมงคลต่าง ๆ เช่น วันเกิด และวันแต่งงาน
ในการนี้ ทอดพระเนตรริ้วขบวนฟ้อนเชิญบายศรีทูลพระขวัญ พร้อมเครื่องราชสักการะ และพุ่มดอกไม้ของเจ้านายฝ่ายเหนือ ประกอบด้วย กังสดาล, วงกลองชุม, ขบวนตุงช่อ 10 คู่, ฟ้อนเจ้านายฝ่ายเหนือ ฝ่ายชาย 5 คู่ นำหน้าพานพระขวัญและบายศรีต้นแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ฟ้อนเจ้านายฝ่ายเหนือ ฝ่ายหญิง 8 คู่ นำหน้าพานพระขวัญและบายศรีต้นแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี, ขบวนหัวหมู-เครื่องคาว-เครื่องหวาน, ขบวนเครื่องสักการะล้านนา 5 คู่, ขบวนพานพุ่มดอกไม้ 5 สกุล ได้แก่ สกุล ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำปาง, ณ น่าน และ ณ เชียงตุง
จากคติความเชื่อเรื่อง "การสู่ขวัญ" พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดพิธีบายศรีทูลพระขวัญขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ครั้งเสด็จเลียบมณฑลพายัพ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2469 ณ พลับพลา หน้าศาลากลางมณฑลพายัพ หรือบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ในปัจจุบัน
ต่อมาเจ้านายฝ่ายเหนือได้ร่วมกันจัดพิธีบายศรีทูลพระขวัญขึ้น ตามแบบแผนที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กำหนดไว้ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2501 ณ พลับพลา โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้านายฝ่ายเหนือได้จัดพิธีบายศรีทูลพระขวัญถวายอีกหลายครั้ง
นอกจากนี้ เจ้านายฝ่ายเหนือยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้จัดพิธีบายศรีทูลพระขวัญถวายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ 9, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระบรมวงศ์ รวมทั้งพระราชอาคันตุกะอีกหลายวาระ
เมื่อผู้เชิญบายศรีทูลพระขวัญ พร้อมเครื่องราชสักการะและพุ่มดอกไม้ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ณ โต๊ะบริเวณมุขพลับพลาพิธีแล้ว เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง ร่ายนำคำทูลพระขวัญ เป็นทำนองของเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่เคยปฏิบัติถวายมาแต่ในอดีต นายสนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขับลำนำทูลเชิญพระขวัญ เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ ประมุขสายสกุล ณ เชียงใหม่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ผูกข้อพระหัตถ์ขวาและซ้ายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย กับทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือ "เจ้าหลวงเชียงใหม่", เจ้าวรเทวี ณ ลำพูน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ผูกข้อพระหัตถ์ขวาและซ้ายแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือ "เจ้าหลวงลำพูน" เจ้าธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ และเจ้าประภารัตน์ ณ ลำพูน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
ในการนี้ ทอดพระเนตรการแสดงชุด "เฉลิมรัชทศมราชา บรมราชจักรีวงศ์" เป็นการแสดงแสง สี เสียง อิงประวัติศาสตร์ โดยเด็กและเยาวชน 155 คน แบ่งเป็น 4 องก์ ได้แก่ องก์ที่ 1 ปฐมพงศ์วงศ์พิ่งคนคร, องก์ที่ 2 สานสัมพันธ์ไมตรีทิพย์จักรจักรีวงศ์, องก์ที่ 3 สายใยรักสองแผ่นดิน และองก์ที่ 4 ร่มฟ้าบารมีทศมราชา บรมราชจักรีวงศ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญ และทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีที่มีมาแต่โบราณ โดยพิธีบายศรีทูลพระขวัญ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นการจัดขึ้นครั้งแรกในรัชกาล เพื่อความเป็นสิริมงคล และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ ซึ่งที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยและเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ภาคเหนือมาโดยตลอด
จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร