เวลา 17.16 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม ในการพระราชทานเพลิงศพนายบุญฉลอง ภักดีวิจิตร ซึ่งถึงแก่กรรมด้วยภาวะปอดติดเชื้อ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 สิริอายุ 93 ปี
นายบุญฉลอง ภักดีวิจิตร เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2474 เป็นบุตรของนายพุฒ และนางลิ้นจี่ ภักดีวิจิตร สำเร็จการศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษา ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ และได้เข้าสู่วงการภาพยนตร์โดยได้แรงบันดาลใจจากบิดา ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และคุณอาเป็นผู้ถ่ายภาพและกำกับการแสดง เริ่มเข้าสู่วงการด้วยการเป็นช่างภาพถ่ายภาพยนตร์ เรื่องแรก คือ "แสนแสบ" บทประพันธ์ของไม้เมืองเดิม จากนั้น ได้ศึกษาขบวนการทำภาพยนตร์และเทคนิคต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาการถ่ายภาพยนตร์ จนประสบความสำเร็จสูงสุด ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองพระราชทานพระสุรัสวดี 2 ปีซ้อน ในฐานะช่างถ่ายภาพยอดเยี่ยม จากประสบการณ์ที่ถ่ายทำภาพยนตร์ จึงเปลี่ยนมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เป็นผู้มีความมุ่งมั่นที่จะนำภาพยนตร์ไทยสู่นานาชาติ ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง "ทอง" ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จัก ต่อมาได้ผันตัวเองมาบุกเบิกละครแนวบู๊ทางโทรทัศน์ มีผลงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาวงการภาพยนตร์ และละคร เป็นบุคคลต้นแบบ ที่ขยัน อดทน ใฝ่รู้ และได้สร้างบุคคลากรที่มีคุณภาพแก่วงการภาพยนต์และละครเป็นจำนวนมาก ในปี 2556 ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับ-ผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์)
เวลา 17.35 น. เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพนายสันทัด ตัณฑนันทน์ ณ เมรุวัดตรีทศเทพ
นายสันทัด ตัณฑนันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2478 สำเร็จการศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างที่ศึกษาอยู่ ได้ร่วมกับเพื่อนนิสิต ตั้งเป็นวงดนตรี ใช้ชื่อว่า "วงบิ๊กแบนด์ สจม. (สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)" ปัจจุบัน คือ วงดนตรีสากลสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Band โดยรับหน้าที่เป็นหัวหน้าวงคนที่ 3 ได้รับโอกาสให้เข้าไปแสดงทางสถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อการบันทึกเสียงเสร็จสิ้น ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท มีรับสั่งชักชวนให้อยู่ร่วมบรรเลงดนตรี หลังจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอีกหลายมหาวิทยาลัย จนสิ้นสุดเมื่อถึงปี 2516 มหาวิทยาลัยจึงร่วมกันจัดงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี ในวันที่ 20 กันยายนของทุกปี เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล
นายสันทัด เข้าทำงานเป็นอาจารย์โรงเรียนสาธิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกวงคนตรี อ.ส.วันศุกร์ ในตำแหน่งทรอมโบน นอกจากนี้ ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาการบรรเลงวงดนตรีบิ๊กแบนด์ สนับสนุนการก่อตั้งวงดนตรีชนิดนี้ให้แพร่หลาย อาทิ วง THE YAMAHA SOUND ซึ่งพัฒนามาเป็นวงดนตรี "เฉลิมราชย์" ทั้งและให้คำแนะนำในการจัดแสดงดนตรี เรียบเรียงเสียงประสาน บรรเลงดนตรีเพื่อประโยชน์ด้านต่าง ๆ รวมถึงอนุรักษ์และเผยแพร่เพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 9 โดยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 4 และเหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 9 ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับ รองศาสตราจารย์มัลลิกา ตัณฑนันทน์ มีบุตร-ธิดา 2 คน นายสันทัด ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 สิริอายุได้ 90 ปี