แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยหมดแรง ร่วงใส่บ่อขยะขณะบินอพยพ

แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยหมดแรง ร่วงใส่บ่อขยะขณะบินอพยพ

View icon 142
วันที่ 27 ม.ค. 2568 | 19.11 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ร่วงใส่บ่อขยะใน จ.กระบี่ คาดหมดแรงขณะบินอพยพหนีหนาว

ผู้สื่อข่าวจังหวัดกระบี่รายงานว่าชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ที่ 3 ต.บ้านทุ่งไทรทอง อ.ลำทับ จ.กระบี่ พบแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย บินลงมาในสภาพอ่อนแรง ตรงบริเวณบ่อขยะของเทศบาลตำบลลำทับ จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแล พร้อมทั้งนำซากสัตว์มาให้เพื่อให้นกแร้งตัวดังกล่าวได้ทานเป็นอาหารหลัง

โดยแร้งตัวดังกล่าว ส่วนหัวและลำคอมีขนอุยสีขาว ขนแผงคอสีน้ำตาลอ่อนมีลายขีดสีขาว ลำตัวสีน้ำตาลออกเหลืองหรือสีกากีอ่อน ใต้ท้องสีน้ำตาลอ่อนกว่าด้านหลัง ก้านขนแต่ละเส้นจะมีลักษณะเป็นสีขาวเด่นออกมาจากพื้นสีลำตัว  มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 110 เซนติเมตร ปีกเมื่อกางออกยาวได้ถึงเกือบ 3 เมตร น้ำหนักประมาณ 8-12 กิโลกรัม 

โดยนางจิตนา สีเขียว อายุ 39 ปี พนักงานดุแลบ่อขยะของเทศบาล เล่าว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 สัปดาห์ เห็นนกแร้งตัวดังกล่าวบินร่วงลงมาแล้วหาอาหารบนกองขยะ ตนเห็นจึงเข้าดูในกูเกิล พบว่าเป็นนกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ก่อนแจ้งไปทางผู้ใหญ่บ้านให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ พร้อมทั้งซื้อซากสัตว์มาช่วยเหลือน้อง จนสภาพดูดีขึ้น

ด้านนายอติพจน์ ศรีสุคนธ์ อายุ 62 ปี ช่างภาพถ่ายนก เล่าว่า พอรู้เรื่องก็เดินทางมาดูและถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก โดย จ.กระบี่ ไม่เคยพบนกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยมาก่อน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่พบ จำได้ว่าก่อนหน้านี้ แร้งชนิดนี้มีมากในประเทศไทยแถววัดสระเกด  แต่ตอนหลังบ้านเมืองเจริญขึ้น ซากสัตว์ในธรรมชาติไม่มี ทำให้นกชนิดนี้หายไป  และการเจอครั้งนี้คาดว่านกหมดแรงเลยร่วงลงมา เนื้องจากถิ่นอาศัยแถวตอนเหนืออากาศหนาว จึงอพยพลงมาทางใต้ แต่เกิดหมดแรงและร่วงดังกล่าว

นายสุรชัย ท่าเทศ  หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประบางคราม จ.กระบี่ เปิดเผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ พบว่าแร้งตัวดังกล่าวมีสภาพอ่อนแรง จากนั้นเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เข้าดูแลป้องกัน การถูกทำร้าย และยังคงปล่อยให้อยู่ธรรมชาติ เนื่องจากนกตัวดังกล่าวยังมีกำลังบินและโชคดีที่ชาวบ้านได้ช่วยกันนำซากสัตว์มาดูแล จึงยังไม่นำแร้งตัวดังกล่าวส่งมอบให้แก่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา จ.พังงา หากพบว่าร่างกายอ่อนแรงก็จะนำกลับไปยังศูนย์เพาะเลี้ยง เหมือนกับตัวอื่นๆ ที่พบร่วงลงมาแล้ว 6 ตัว แต่ตัวดีเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์แล้วยังอยู่ในธรรมชาติได้ต่อ แค่รอให้ปรับสภาพร่างกายให้ดีขึ้นแล้วบินกลับไปเอง

สำหรับแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยไม่ใช่นกประจำประเทศไทย แต่เป็นนกอพยพที่ฤดูหนาวจะบินลงใต้มาอาศัยอยู่ยังประเทศไทยเพราะมีอากาศที่อบอุ่นกว่า สถานะอนุรักษ์ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ แร้งชนิดนี้จัดว่าเป็นนกบินได้ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของทวีปเอเชีย เป็นรองเพียงแร้งดำหิมาลัยเท่านั้น ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นแร้ง หรือสัตว์ป่าพลัดหลง บาดเจ็บ แจ้งได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง