วันนี้ (31 ม.ค. 68) นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ให้ความรู้ด้านสุขภาพ โดยระบุถึง ไขมันพอกตับ ภัยเงียบที่แฝงมาไม่รู้ตัว หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า ตับ ของเราสำคัญแค่ไหน
ตับคือโรงงานใหญ่ของร่างกายที่ช่วยกรองสารพิษ ผลิตพลังงาน และเก็บสะสมสารอาหารสำคัญไว้ แต่บางครั้งเราก็ทำร้ายตับโดยไม่รู้ตัว เช่น กินอาหารมัน ๆ น้ำตาลเยอะ หรือดื่มแอลกอฮอล์มากไป ไขมันจะเริ่มสะสมในตับ และนี่แหละคือจุดเริ่มต้นของ "ไขมันพอกตับ" ที่ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาในตอนแรก แต่จริง ๆ แล้วมันคือโรคเงียบที่อันตรายกว่าที่คิดแลที่สำคัญโรคนี้ไม่ใช่โรคไกลตัวเลยนะ 1 ใน 4 ของคนไทยเป็นไขมันพอกตับ
1. ไขมันพอกตับเริ่มต้นเงียบ ๆ แต่พอรู้ตัวอีกที อาจสายไปแล้ว
ไขมันพอกตับคืออะไร? มันก็คือการที่ ไขมันสะสมในตับมากเกินไปจนร่างกายเริ่มจัดการไม่ไหว ส่วนใหญ่เกิดจากการที่เรากินเกินความจำเป็น เช่น กินอาหารทอด ๆ มัน ๆ หรืออาหารหวานจัด จนร่างกายเผาผลาญไม่หมด ไขมันเหล่านั้นก็เลยไปเกาะในตับ ตับของเราก็ทำงานไม่ได้ดี ปัญหาคือ ไขมันพอกตับระยะแรก แทบไม่มีอาการอะไรเลย คุณอาจจะรู้สึกแค่เหนื่อยง่าย หรือหนัก ๆ แน่น ๆ บริเวณช่องท้องขวา แต่ไม่ชัดเจนพอจะรู้ว่าตับเริ่มมีปัญหาแล้ว หลายคนเลยปล่อยผ่านไปจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ในภายหลัง
2. ไขมันสะสมในตับ อาจกลายเป็น "ตับอักเสบ"
ถ้าคุณคิดว่าไขมันพอกตับจะหยุดอยู่แค่การสะสมไขมันเฉย ๆ บอกเลยว่าไม่ใช่นะ เพราะไขมันที่เกาะในตับนานเกินไปจะไปกระตุ้น การอักเสบในเซลล์ตับ หรือที่เรียกว่า "ตับอักเสบ" ซึ่งเป็นเหมือนการที่ร่างกายส่งสัญญาณ ว่าตับกำลังมีปัญหาในระหว่างที่ตับพยายามกำจัดไขมันออกไป เซลล์ตับกลับถูกทำลาย
จากการอักเสบนี้ไปด้วย ยิ่งถ้าเราไม่ปรับพฤติกรรม เช่น กินหวาน กินมันเหมือนเดิม หรือยังดื่มแอลกอฮอล์บ่อย ๆ การอักเสบจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ นะ คิดถึงไฟที่เริ่มไหม้ในบ้าน ถ้าคุณไม่ดับไฟตั้งแต่แรก มันก็จะลุกลามไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นไฟไหม้ทั้งหลัง ตับก็เหมือนกัน ถ้าปล่อยให้ตับอักเสบไปเรื่อย ๆ ตับของคุณก็พังได้
3. ตับแข็ง: เมื่อปัญหาไขมันพอกตับมาถึงจุดที่ย้อนกลับไม่ได้
ตับแข็งไม่ใชแค่เรื่องดื่มแอลกอฮอล์นะ หากการอักเสบในตับไม่ได้รับการดูแล เซลล์ตับที่เสียหายจะถูกแทนที่ด้วย เนื้อเยื่อพังผืด (Fibrosis) จนกลายเป็นภาวะที่เรียกว่า "ตับแข็ง" ตับแข็งคือตับที่ทำงานไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป พังผืดพวกนี้จะไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดและทำให้การทำงานของตับลดลงในช่วงนี้ คุณอาจเริ่มเห็นอาการชัดเจน เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องบวม หรืออ่อนเพลียแบบหนักหน่วง ตับแข็งเป็นระยะที่ ตับไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ เพราะมันเสียหายถาวรแล้ว
4. ไขมันพอกตับ : ความเสี่ยงที่อาจลุกลามไปถึง "มะเร็งตับ"
อย่างที่บอกไปนะครับเมื่อเรากินของมันๆ หรือหวานๆ มากเกินไป ไขมันที่ใช้ไม่หมดก็จะเริ่มไปสะสมในตับ ทีนี้ปัญหาไม่ได้หยุดแค่ไขมันเกาะ แต่ยังไปกระตุ้นให้ตับเกิด การอักเสบเรื้อรัง เพราะร่างกายพยายามกำจัดไขมันเหล่านี้ออก แต่แทนที่จะดีขึ้น การอักเสบกลับทำให้เซลล์ตับเสียหายไปเรื่อยๆ และร่างกายก็ต้องซ่อมแซมตัวเองโดยการสร้าง พังผืด หรือเนื้อเยื่อแข็งๆ แทนที่เนื้อเยื่อตับที่ถูกทำลาย
เมื่อเกิดพังผืดมากขึ้น ตับก็เริ่มแข็งตัวและทำงานได้แย่ลง และที่ร้ายแรงกว่านั้น เซลล์ตับที่ถูกทำลายบ่อยๆ มีโอกาสเกิด การกลายพันธุ์ (Mutation) ในระดับ DNA และกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด อันนี้นี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เพราะหลายคนปล่อยให้ไขมันพอกตับอยู่นานจนพัฒนาเป็น "ตับอักเสบเรื้อรัง" และ "ตับแข็ง" ซึ่งเป็นบันไดสู่การเกิดมะเร็งตับโดยตรง
5. รีบป้องกันไขมันพอกตับ ก่นเป็นไขมันพอกตับ
หลายคนอ่านแล้วก็อาจจะกลัวนะ แต่จริงๆ แล้วไขมันพอกตับมันป้องกันได้
- เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์: ลดของทอด ของหวาน อาหารมันๆ แล้วหันมาทานผัก ธัญพืช และโปรตีนไขมันต่ำ
- งดหรือเลิกแอลกอฮอล์: เพราะเป็นตัวการที่ทำให้ตับทำงานหนักเกินไป
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ: อย่างน้อยวันละ 30 นาที 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกาย
- เสริมโภชนาการช่วยตับ: เช่น โคลีนที่ช่วยลดการสะสมไขมันในตับ วิตามินอีที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ หรือขมิ้นชันที่ช่วยลดการอักเสบ
การป้องกันไขมันพอกตับไม่ใช่เรื่องยาก ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในวันเดียว แค่เริ่มจากการปรับพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการกินอาหารดีและขยับร่างกายบ่อยขึ้น สุขภาพตับก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน สิ่งสำคัญคือต้องทำต่อเนื่อง
หมอเจดฝากเป็นข้อคิดทิ้งท้ายด้วยว่า ไขมันพอกตับไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือเล็กน้อยอย่างที่หลายคนคิด มันเป็นภัยเงียบที่เริ่มต้นอย่างไม่มีอาการ แต่ถ้าปล่อยไว้นานโดยไม่ดูแล อาจต้องเจอกับตับอักเสบ ตับแข็ง หรือมะเร็งตับในอนาคต การดูแลตับไม่ใช่เรื่องยากเลย เริ่มต้นวันนี้เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น