ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใน "โครงการสืบสานพระราชปณิธานงานโครงการหลวง" ไปมอบแก่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้นำชุมชน และสมาชิกเกษตรกร รวม 444 คน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ พร้อมเชิญพระราชกระแสความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปกล่าวให้ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนได้ทราบ
จากนั้น ติดตามการดำเนินงานของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ สถานีวิจัยพืชเขตหนาว 1 ใน 4 แห่ง ของมูลนิธิโครงการหลวง ดำเนินการวิจัยและส่งเสริมไม้ดอก ไม้ผล พืชผัก กาแฟ เนื่องด้วยอยู่ในระดับความสูงที่เหมาะสม แบ่งพื้นที่ดำเนินงานเป็น 7 หน่วยย่อย ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ รวบรวมและจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอก พืชผักเมืองหนาว, หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง วิจัย ทดสอบ สาธิต ปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผัก ไม้ผล, หน่วยผาตั้ง แหล่งผลิตกาแฟภายใต้ระบบอนุรักษ์, หน่วยแม่ยะน้อย แหล่งวิจัย คัดเลือก และปรับปรุงสายพันธุ์กาแฟอะราบิกา, หน่วยขุนยะ ส่งเสริมผักและกาแฟอะราบิกา, หน่วยเมืองอาง ส่งเสริมผักอินทรีย์ และหน่วยวิจัยประมงพื้นที่สูงแม่กลางหลวง ทดลองเลี้ยง ขยายพันธุ์ และผลิตปลาสเตอร์เจียน ปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตผ่านโครงการหลวงกว่า 38 ล้านบาท รายได้เฉลี่ย 89,584 บาท/คน พ้นขีดความยากจนของอำเภอจอมทอง มีผลผลิตหลัก อาทิ กาแฟ เซเลอร์รี ซูกินี กะหล่ำปลีหัวใจ สตรอว์เบอร์รี
ช่วงบ่ายไปตรวจเยี่ยมหน่วยวิจัยประมงบนพื้นที่สูง ซึ่งโครงการชลประทานเชียงใหม่ กำลังปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ เพื่อป้องกันน้ำป่าท่วมบ่อปลาเรนโบว์เทราต์ แต่เนื่องจากปริมาณน้ำในลำห้วยยังสูง คาดว่าจะดำเนินการต่อได้ในเดือนมีนาคม และมีการก่อสร้างระบบส่งน้ำฝายสิริภูมิ พร้อมบ่อพักน้ำ 4 บ่อ เพื่อเก็บน้ำสำหรับเพาะเลี้ยงปลาในหน้าแล้ง โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้นำลูกปลาเรนโบว์เทร้าต์มาทดลองเพาะเลี้ยง เพื่อเพิ่มทางเลือก ปี 2518 กรมประมง ได้ทดลองเลี้ยงลูกปลา จากนั้นได้หยุดชะงักไปจนโครงการหลวง เพาะพันธุ์ปลาเรนโบว์เทร้าต์ได้สำเร็จ ในปี 2542 ปัจจุบัน ยังมีการเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน สามารถชดเชยการนำเข้าจากต่างประเทศ พัฒนาต่อยอดการผลิตไข่ปลาคาร์เวียจากปลาเทร้าต์และปลาสเตอร์เจียน