เวลา 13.39 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ (FTCDC) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าอีสาน (ISAN TEXTILE MUSEUM) ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน เป็นแหล่งจัดเก็บและรวบรวมสารสนเทศภูมิปัญญาผ้าทออีสาน รวมทั้ง เผยแพร่ภูมิปัญญาศิลปหัตถกรรมสิ่งทอแก่ชุมชน และสร้างเครือข่ายศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาผ้าทออนุภาคลุ่มน้ำโขง
ภายในจัดแสดง 4 โซน ประกอบด้วย โซน 1 "ผ้าทออีสาน ชาติพันธุ์ที่ราบสูง" จัดแสดงเรื่องราวเอกลักษณ์ผ้าทออีสาน ผ้าชาติพันธุ์ต่าง ๆ หุ่นแต่งกายผ้าทอตามชาติพันธุ์ในอีสาน และผ้าทอในวิถีและพิธีกรรม, โซน 2 "ผ้าวัฒนธรรมใต้ถุนบ้าน อีสานต่ำหูก" จัดแสดงวิถีวัฒนธรรมการทอผ้าของคนอีสานตั้งแต่การปั่นฝ้าย เลี้ยงไหม สาวไหม สืบหูก การทอผ้า รวมทั้ง กี่ทอผ้าที่มีจำนวนเขามากที่สุด 1,775 เขา, โซน 3 "อุดรธานี : ธานีผ้าหมี่ขิด" จัดแสดงวิถีวัฒนธรรมการทอผ้าขิด ม้วนผ้าหมี่ขิดที่ยาวที่สุดในโลกยาว 1,199 เมตร สื่อสารสนเทศลวดลายผ้าทอ 600 ลาย และผ้าขิดอัตลักษณ์อีสาน, โซน 4 "มูลมังคลังผ้า ภูมิปัญญาอีสาน" จัดแสดงผ้าทรงคุณค่า ภูมิปัญญาอีสาน ผ้าชนะการประกวด กลุ่มผ้าลาว ผ้าภูไท ผ้าแพรวา ผ้าขิด ผ้าซิ่น ผ้าตุ้ม ผ้าแส่ว กลุ่มผ้าเขมร ผ้าปูม ผ้าโฮล และผ้าอัมปรม
ทั้งยัง จัดแสดงนิทรรศการความงดงามของแพรวา และมนต์เสน่ห์การแต่งกายของชาวภูไท จังหวัดกาฬสินธุ์ ผ้าตุ้มล้ำค่า แพรวางามวิจิตร ซิ่นภูไทหายาก ผ้าแส่วโบราณกว่า 150 ผืน ด้วย
จากนั้น เสด็จไปยังหอประชุมอเนกประสงค์ อาคารกิจกรรมนักศึกษา ทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากจังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ ชัยภูมิ มุกดาหาร หนองบัวลำภู สุรินทร์ มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี และสกลนคร รวม 30 กลุ่ม ซึ่งน้อมนำแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" มาพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้ผ้าย้อมสีจากธรรมชาติ ซึ่งวัตถุดิบเกิดจากเส้นใยและพืชพรรณภายในชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้ง กลุ่มศิลปาชีพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ กลุ่มผาสาท ผ้าทอลายโบราณ จังหวัดมหาสารคาม จัดแสดงผ้าลายเกร็ดสิริสา เป็นงานผ้าเฉลิมฉลอง 160 ปี เมืองมหาสารคาม โดยนำสีจากหนังสือเทรนด์บุ๊กเพื่อให้ตอบโจทย์กับโลกปัจจุบัน
ผ้าไหมมัดหมี่ กลุ่มไหมมีชัย จังหวัดชัยภูมิ นำลวดลายผ้ามัดหมี่ดั้งเดิมผสมผสานลวดลายสร้างสรรค์จากสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ สัตว์เลี้ยงให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น
ชุดเครื่องแต่งกายจากขวดน้ำพลาสติก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสิ่งทอเศรษฐกิจหมุนเวียนบ้านดงเรือง จังหวัดอุดรธานี ใช้นวัตกรรมอัพไซคิ่งเข้ามาจัดการกับขยะพลาสติกในชุมชน พัฒนาเป็นเส้นใยทดแทนฝ้ายในชุมชน
ผ้าลายยีนส์ย้อมคราม เทคนิค ทอ 3 ตะกอ กลุ่มทอผ้าย้อมครามในจังหวัดสกลนคร ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการดอนกอยโมเดล และเป็น Sustainable Village ที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชน และการย้อมคราม มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยมีความเป็นสากล
โครงการจัดแสดงนิทรรศการและผลงานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดอุดรธานี เป็นจุดดำเนินการที่ 1 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของแต่ละจังหวัด และเพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ผลงานอัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้ง เพิ่มช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผ้าไทยให้คนในชุมชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ สมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฝ้าถวายการบ้าน และขอพระราชทานคำแนะนำในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาทิ แผนกปัก มีรับสั่งให้ออกแบบลายข้าวบาร์เลย์ ปักลงบนผ้าไหม ใช้ไหมน้อยย้อมสีธรรมชาติโปรดให้ทำสีเข้มขึ้น เนื่องจากหากนำไปซักสีจะจางลง ให้ทดลองทำเซ็ตผ้าปูที่นอนขนาด 6 ฟุต และทดลองใช้ผ้าลินิน ผ้าฝ้ายทำปลอกหมอน, แผนกเครื่องปั้นดินเผา ที่พระราชทานคำแนะนำให้เพิ่มลวดลายผ้า ลายดอกไม้ และวิถีชุมชนลงบนผลิตภัณฑ์ให้คำถึงถึงความสมบูรณ์ของผลิตภัณฑ์และให้ต่อยอดเป็นที่ใส่เทียนหอม, แผนกทอ ลายรูปทรงต่าง ๆ ต้องให้ลายมีความคมชัด ควรไล่เฉดสีใหม่ หรือ นำสีจากหนังสือเทรนด์บุ๊กมาใช้เพื่อให้เกิดความน่าสนใจและสวยงามทั้งผ้ามัดหมี่และผ้าขิด ทั้งยัง พระราชทานคำแนะนำผลงานออกแบบแก่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ศึกษาด้านสิ่งทอและแฟชั่น
ในการนี้ พระราชทาน "ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์" แก่ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้ชนะเลิศเหรียญทอง จากการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม ระดับประเทศ ประจำปี 2567 ซึ่งทรงออกแบบเนื่องในโอกาสที่ทรงได้รับการถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ ประจำปีการศึกษา 2566 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายที่ปรากฏในศิลปกรรมไทยและผืนผ้าโบราณที่เป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติของประเทศไทย ทรงนำมาออกแบบต่อยอดให้โครงสร้างลวดลายมีความร่วมสมัยเป็นสากลหากยังคงสื่อถึงเอกลักษณ์อันงดงามของชาติ
โดยประเภทผ้ามัดหมี่ ประกอบด้วย ลายดอกพุดตาล ลายเฟื่องอุบะ และลายขอเจ้าฟ้าฯ 2568 ส่วนประเภทผ้ายก, จก, ขิด และแพรวา ประกอบด้วย ลายดอกพุดตาล ลายมยุรสิริ ลายขอเฟื่องอุบะ และลายขอเจ้าฟ้าฯ 2568
จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการแฟชั่นเส้นใยไหม การทอผ้า การสาวไหม และการทดลองจากแล๊บ โดยศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ที่พัฒนากระบวนการผลิต เส้นใยและสีย้อมธรรมชาติ ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองของชุมชนถิ่นอย่างยั่งยืน โดยศึกษา พัฒนา ส่งเสริม การใช้การผลิตเส้นใยจากเศษเหลือทิ้งจากภาคเกษตรกรรม มีการทดสอบความคงทนของสีเพื่อให้ได้ผ้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล
ก่อนเสด็จกลับ ทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ถึง 4 จากคณะครุศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ การแสดงออกเป็น 2 ช่วง คือ โชว์วง และลำเพลิน เป็นการโชว์ที่นำนางไหและกั๊บแก๊ป ที่เป็นนักแสดงตัวเอกของวงโปงลางมาฟ้อนตามแบบฉบับของอีสาน ประกอบเพลงที่มีจังหวะสนุกสนาน